ถิรพร สิงห์ลอ
ปี 2564 อาจไม่ต่างไปจากปี 2563 ในแง่ประเด็นด้านสาธารณสุขอันเป็นผลพวงมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงเป็นที่ชัดแจ้งว่าผลกระทบได้ทำให้เห็นปัญหาสังคมชัดเจนขึ้น ทั้งประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความไม่ยุติธรรมบนฐานของความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายที่เชื่อมโยงกัน ทว่าเป็นปีที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงจากการที่ทุกภาคส่วนในสังคมมี “สำนึกของความเร่งด่วน” (sense of urgency) เกิดขึ้นในทุกงานที่ทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเอกชน เพื่อผลักดันสังคมให้มีความยั่งยืนมากขึ้นสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นต่อไป
สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) มองว่าความท้าทายของการประเมินผลการดำเนินงานในภาคเอกชนคือการหามาตรวัดที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานในการประเมินประเด็นหนึ่งเพื่อการรายงานผลที่มีความสม่ำเสมอและน่าเชื่อถือ ซึ่งจะเป็นคุณประโยชน์ต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อันหมายรวมถึงนักลงทุน ที่สามารถติดตามอ่านผลการดำเนินงาน/รายงานนั้นได้อย่างเข้าใจ ซึ่งเมื่อประมาณ 50 ปีก่อนอาจพบว่าการที่จะมีเครื่องมือวัดผลให้การจัดทำรายงานได้อย่างมีมาตรฐานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ปัจจุบัน ได้มีการเสนอให้มีการรับ “การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล” (Environmental, Social and Governance: ESG) ที่มีเอกภาพและโปร่งใส นำไปใช้ปรับวิธีการเพื่อเป็นฐาน (baseline) ในการทำงาน โดยข้อดีของ ESG ในแง่หนึ่งคือเป็นการช่วยติดตามการดำเนินงานที่ส่งผลต่อ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (contributions towards the SDGs)
รายละเอียดของ ESG มีดังนี้
- หลักธรรมาภิบาล – ให้คำนึงถึงเป้าหมาย การให้บริการ และความรับผิดรับชอบของบริษัท (#SDG12 ในฐานะผู้ผลิต, 16, 17)
- โลก – ปกป้องโลกจากความเสื่อมถอยและความเสื่อมโทรมด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (#SDG12) การลงมือทำอย่างเร่งด่วนเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (#SDG13) และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (#SDG14, 15) เพื่อให้สามารถสนับสนุนความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นต่อไปได้
- คน – ความมุ่งมั่นที่จะยุติความยากจนและความหิวโหยในทุกมิติและรูปแบบ (#SDG1, 2) และสร้างหลักประกันให้มนุษย์สามารถเติมเต็มศักยภาพของตนได้อย่างมีศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี (#SDG3, 4, 5, 10)
- ความมั่งคั่ง – ความมุ่งมั่นที่จะสร้างหลักประกันให้มนุษย์มีความมั่งคั่ง เติมเต็มชีวิตตัวเองได้ และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจะเป็นไปอย่างสมดุลและกลมกลืนกับธรรมชาติ (#SDG1, 8, 9 10)
สำหรับบริษัท แม้ในปัจจุบันการรับนำตัวชี้วัดนี้ไปปรับใช้อาจจะยุ่งยาก มีค่าใช้จ่ายสูง หรือมีความท้าทายเรื่องของข้อมูลที่จะนำมาประเมินตามตัวชี้วัด ทว่าบรรษัทและนักลงทุนต่างมีการตอบรับกับ ESG ไปในทางที่ดี โดยเริ่มเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญกับการใช้ ESG มากขึ้นในการวัดผลความก้าวหน้าในการดำเนินงานและประเมินผลกระทบที่มีต่อสังคมและความยั่งยืน
แหล่งอ้างอิง:
https://www.weforum.org/agenda/2021/01/measure-progress-building-sustainable-future/
#SDGWatch #ihpp #SDG1 #SDG2 #SDG3 #SDG4 #SDG5 #SDG8 #SDG9 #SDG10 #SDG12 #SDG13 #SDG14 #SDG15 #SDG16 #SDG17