ถิรพร สิงห์ลอ
ภาพลักษณ์ด้านลบส่วนใหญ่ที่ประชาชนมีต่อภาคธุรกิจคือการหลีกเลี่ยงภาษี การล็อบบี้ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน จนเกิดคำถามว่าจะมีส่วนช่วยผลักดัน SDGs ได้อย่างไร ? ในขณะที่ภาคเอกชนเองอาจตั้งคำถามเช่นเดียวกันว่าจะได้ประโยชน์อย่างไรจาก SDGs
อย่างไรก็ดี ตามรายงานการสำรวจ Edelman Trust Barometer 2021 พบว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อภาคธุรกิจมีมากขึ้นที่ร้อยละ 61 มากกว่าภาคประชาสังคมที่ร้อยละ 57 ภาครัฐที่ร้อยละ 53 และสื่อที่ร้อยละ 51 โดยหากยกตัวอย่างจากสถานการณ์โควิด-19 ก็จะเห็นบทบาทที่โดดเด่นของภาคเอกชนที่ได้ลงมือทำอย่างไม่รีรอและเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง อาทิ การนำนวัตกรรมมาพัฒนาและลงทุนร่วมกับภาครัฐในประเด็นสาธารณสุข ซึ่งมีส่วนช่วย SDGs เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดีได้โดยตรง รวมไปถึงการผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำมาใช้เป็นทางออกของสถานการณ์วิกฤติยังได้ช่วยเป้าหมายที่ 8 การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการมีงานทำ บทบาทของภาคเอกชนในแง่นี้ จึงสำคัญต่อ SDGs ในด้านการนำทรัพยากรและนวัตกรรมของภาคเอกชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนการปรับตัว มีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อภาคเอกชนได้ทำให้ภาคเอกชนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยเช่นกัน กล่าวอีกทางหนึ่งคือ คุณค่าที่ผู้บริโภค ลูกค้า หรือพนักงานในสังกัดได้ยึดถือ ได้มีส่วนควบคุมพฤติกรรมของธุรกิจให้คำนึงถึงประเด็นทางสังคมด้วย อย่าง SDG เป้าหมายที่ 13 เรื่องการลงมือจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หลากหลายภาคส่วนให้ความใส่ใจ ถือเป็น “ภารกิจ” สำคัญของภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมที่จะลงมือทำหรือร่วมแก้ไขปัญหาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่ต้องเร่งลงมือทำโดยอาจจะต้องเร่งการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ก่อนปี 2050 ด้วยซ้ำ
บรรดาธุรกิจต่าง ๆ เริ่มตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า “ไม่มีงานเหลือให้ทำ ในโลกที่ตายไปแล้ว” เพราะเมื่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศอันก่อให้เกิดน้ำท่วม พายุ ไฟป่า และโรคระบาดไปทั่วโลก ก็ยิ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทจะหันมาใส่ใจกับประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะเดียวกันหากมองถึงประโยชน์ที่จะเกิดต่อตัวบริษัทเอง งานเขียนของ Deloitte “2020 Global Marketing Trends” ได้ชี้ว่าบริษัทที่ดำเนินงานด้วยการมีเป้าหมายเพื่อสังคม มีส่วนแบ่งทางตลาดที่เพิ่มมากขึ้นและเติบโตได้มากขึ้น ดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพและความสามารถให้เข้ามาร่วมงานไปจนถึงทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจกับบริษัทนั้นมากขึ้นด้วย
ตัวอย่างบริษัทที่มีผลงานเดินหน้าด้วยการนำ SDGs ผนวกรวม/เป็นกรอบยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ขององค์กร อาทิ Google, Microsoft, Unilever และ Mastercard SDGs ได้เข้ามาช่วยให้บริษัทมีการพิจารณาประเด็นทางสังคมได้อย่างรอบด้านและเป็นระบบ และยังช่วยประเมินผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบที่มีต่อสังคมที่บริษัทเหล่านี้ได้ดำเนินการอยู่ด้วย
SDG เป้าหมายที่ 17 เป้าประสงค์ที่ 17.17 ว่าด้วยเรื่องหุ้นส่วนความร่วมมือภายในประเทศ (ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม) ทั้งนี้ ภาคเอกชนสามารถนำ SDGs ไปใช้เป็นกรอบการทำงานได้ และคำว่า “เพื่อสังคม” ที่ว่านั้นอาจเป็นประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมซึ่งสอดคล้องกับ SDGs เป้าหมายที่ 1 – 17
อ่านรายงานการสำรวจเพิ่มเติม:
แหล่งที่มา:
https://www.brinknews.com/the-sustainable-development-goals-are-good-for-business/
#SDGWath #ihpp #SDG17
Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021