แก้ปัญหาแบบ “2-in-1” : การวิจัยยาที่สามารถป้องกันได้ทั้งการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และการติดเชื้อ HIV

ถิรพร สิงห์ลอ

การติดเชื้อ HIV และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ (unwanted pregnancy) ในประเทศแถบแอฟริกาซับซาฮารามีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีความพยายามทำการวิจัยหาวิธีป้องกันทั้งในสองกรณีสำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง โดยพยายามพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันเพื่อวัตถุประสงค์การใช้ที่หลากหลาย (Multipurpose prevention technologies: MPTs) ซึ่งเป็นยาหรืออุปกรณ์เพียงชิ้นเดียว อาทิ การใส่ห่วงในช่องคลอดเพื่อคุมกำเนิด (vaginal ring) โดยนักวิจัยได้มีการนำเสนอความเป็นไปได้และความปลอดภัยของยาหรืออุปกรณ์หลากหลายประเภทในการประชุมออนไลน์การวิจัยเพื่อป้องกันเชื้อ HIV (HIV research for prevention: HIVR4P) เมื่อวันที่ 27-28 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา

MPTs ถือเป็นความพยายามชี้ประเด็นและไขปัญหาความต้องการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์สำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง โดยการใช้ยาหรืออุปกรณ์เพียงหนึ่งชิ้น อาทิ การฉีดวัคซีน ยาคุมกำเนิด สารฆ่าจุลินทรีย์ (microbicides) ไปจนถึงอุปกรณ์อย่างฝาครอบปากมดลูก (diaphragms) ซึ่งงานวิจัยระยะแรกในปัจจุบันได้โฟกัสที่การพัฒนา MPTs เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (sexually transmitted infection: STI) อันหมายความถึงเชื้อ HIV ด้วย

โดย MPTs สามารถเป็นแบบการรวมยาเพร็พ (PrEP –  ยาที่รับประทานเพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ HIV โดยรับประทานครั้งละหนึ่งเม็ดทุกวัน) กับสารที่จะช่วยป้องกันโรค STI หรือ MPTs ประเภทที่พัฒนายาเหน็บช่องคลอด (vaginal insert) เพื่อลดความเป็นกรดในช่องคลอด (vagina acidity) ให้สามารถหยุดยั้งการทำงานของสเปิร์มและแบคทีเรียในช่องคลอดได้ โดยรวมแล้ว จากที่ประชุมได้มีการนำเสนอความเป็นไปได้ของ MPTs กว่า 24 รายการ โดยจากที่ได้มีการทำวิจัยกับคู่รัก 400 กลุ่มในประเทศซิมบับเวและอูกานดา พบว่าร้อยละ 91 ของหญิงและชาย เลือกวิธีการ MPTs แบบ “2-in-1” โดยเฉพาะประเภทที่เป็นยามากกว่าแบบที่เป็นอุปกรณ์ เพราะสามารถจัดการง่าย โดยการกินยาทุกเดือน หรือทุก ๆ สองหรือสามเดือน ซึ่งดีกว่าประเภทที่กินยาทุกวัน หรือต้องสวมใส่อุปกรณ์ (ห่วงในช่องคลอด) ตลอดเวลา

ถึงกระนั้น องค์การอนามัยโลกยังได้แนะนำเพิ่มเติมว่า ก็ควรมีตัวเลือกให้สามารถสวมใส่แหวนช่องคลอด Dapivirine ป้องกันเชื้อ HIV ในผู้หญิงและเด็กผู้หญิง เพื่อเป็นยาต้านไวรัสทางเลือกในกรณีที่ไม่สามารถกินยา เพร็พ PrEP ได้

ทั้งนี้ การวิจัยและพัฒนา MPTs เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์แบบ “2-in-1” ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ก็พอจะช่วยเปลี่ยนความคิดเรื่องที่สามารถใช้ยาเพร็พและยาคุมกำเนิดร่วมกัน และจะยังคงมีการทำการศึกษาวิจัยผลดี ผลกระทบ หรือข้อจำกัดทางสุขภาพและทางการแพทย์ของยาและอุปกรณ์ดังกล่าวต่อไป

“SDGs เป้าหมายที่ 3 มีเป้าประสงค์ที่กล่าวถึงการยุติการแพร่กระจายของเอดส์และโรคติดต่ออื่น ๆ การศึกษาอนามัยเจริญพันธุ์ การวิจัยและพัฒนายา”

แหล่งที่มา:

https://www.aidsmap.com/news/feb-2021/products-prevent-both-pregnancy-and-hiv-begin-emerge

https://www.who.int/reproductivehealth/topics/linkages/mpts/en/

#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น