เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า Ngozi Okonjo-Iweala นักเศรษฐศาสตร์หญิงและอดีตรัฐมนตรีการคลังของประเทศไนจีเรีย จะกลายเป็นสตรีคนแรกและยังเป็นชาวแอฟริกันคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้นำองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) หลังจากผู้ชิงตำแหน่งอีกคน คือ รัฐมนตรีการค้าหญิงจากเกาหลีใต้ Yoo Myung-hee ถอนตัวจากออกจากการแข่งขัน
การดำเนินการสรรหาผู้อำนวยการ WTO คนใหม่ เริ่มต้นเมื่อ Roberto Azevêdo ลงจากตำแหน่งเร็วกว่ากำหนดหนึ่งปีไปเมื่อสิงหาคม ปี 2020 ที่ผ่านมา และต่อจากนั้นเมื่อตุลาคม Ngozi Okonjo-Iweala และ Yoo Myung-hee กลายเป็นผู้เข้ารอบสุดท้าย 2 คน จากผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งทั้งหมด 8 คน ซึ่งหมายความว่า WTO จะมีผู้อำนวยการองค์การคนใหม่เป็นผู้หญิงครั้งแรกนับตั้งแต่มีการก่อตั้งองค์การขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อน
Ngozi Okonjo-Iweala ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากประเทศสมาชิก WTO รวมถึงสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของ Donald Trump ได้ให้การสนับสนุน Yoo Myung-hee มาโดยตลอด ทำให้กระบวนการตัดสินใจเลือกผู้นำคนใหม่มีความซับซ้อนและใช้เวลามากขึ้น เพราะตามระเบียบการคัดเลือกผู้อำนวยการ WTO ที่มีมาตั้งแต่ปี 1995 ทุกประเทศสมาชิกรวม 164 ประเทศ ต้องมีการออกเสียงรับผู้อำนวยการเป็นเอกฉันท์เท่านั้น แต่เมื่อ Yoo Myung-hee ถอนตัวจากสนาม รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของผู้นำประเทศคนใหม่ Joe Biden จึงได้หันมาผลักดัน Ngozi Okonjo-Iweala แทน
การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงในเวทีโลกของผู้หญิง โดยเฉพาะในพื้นที่ทางการเมืองที่ยังคงดำรงอยู่ในวัฒนธรรมที่มีผู้ชายเป็นศูนย์กลาง รวมถึงสถาบันต่างๆ ในปัจจุบันที่ล้วนถูกก่อตั้งด้วยผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ จะเป็นตัวอย่างและเป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้โลกบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 5 – Gender Equality โดยเฉพาะในเป้าประสงค์ที่ 5.5 ในสร้างหลักประกันว่า ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล และมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในทางการเมือง เศรษฐกิจ และภาคสาธารณะ
นับตั้งแต่ WTO ก่อตั้งในปี 1995 องค์การการค้าโลกมีผู้อำนวยการมาแล้ว 6 คน โดย 3 คนจากยุโรป และจากโอเชียเนีย เอเชียและอเมริกาใต้ทวีปละ 1 คน การได้ผู้นำคนใหม่จากทวีปแอฟริกา แสดงให้เห็นถึงความมีส่วนร่วมจากทุกส่วนของโลก และจะเป็นการแสดงออกเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 10 – Reduced Inequalities ในเป้าประสงค์ที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคมเศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรืออื่นๆ และ เป้าประสงค์ 10.6 สร้างหลักประกันว่าจะมีตัวแทนและเสียงสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการตัดสินใจของสถาบันทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้สถาบันมีประสิทธิผลเชื่อถือได้ มีความรับผิดชอบและชอบธรรมมากขึ้น
อ้างอิง
https://edition.cnn.com/2021/02/05/business/wto-nigeria-ngozi-okonjo-iweala/index.html
https://www.nytimes.com/2021/02/05/business/ngozi-okonjo-iweala-world-trade-organization.html
Photos: ©WTO/Jay Louvion
Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021