กรณีศึกษา Amsterdam และ Quezon City ในการสร้างสิ่งแวดล้อมทางอาหารที่ดีต่อสุขภาพเด็กในเมือง

The EAT-Lancet Commission on Food, Planet, Health และ UNICEF เผยแพร่กรณีศึกษาสองกรณีจากเมืองอัมสเตอร์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ เกซอนซิตี ประเทศฟิลิปปินส์ ในการดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการ และความสามารถในการฟื้นตัวของเมืองผ่านการสร้างระบบอาหารแบบบูรณาการ เพื่อให้คำแนะนำและสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบอาหารและโภชนาการที่ยั่งยืนทั่วโลก

“ ความเป็นเมือง (urbanization) กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของภาวะทุพโภชนาการ” Victor Aguayo หัวหน้าฝ่ายโภชนาการระดับโลกของ UNICEF กล่าว “เมื่อหลายล้านครอบครัวย้ายจากชนบทมาอาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ อาหารที่เลี้ยงเด็กก็เปลี่ยนไป”

ภาวะทุพโภชนาการหลายรูปแบบมักจะกระจุกตัวอยู่ในเมืองต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งภายในปี 2050 จะมีเด็กอาศัยอยู่ในเมืองคิดเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนเด็กทั้งหมด สภาพแวดล้อมในเมืองมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเด็กๆ และครอบครัวมากขึ้นเรื่อยๆ การเดินทาง การทำงาน กินอาหารและเล่น ปัจจัยที่รวมกันเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ เมืองและรัฐบาลท้องถิ่นสามารถมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้กำหนดนโยบายและจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างเมืองให้มีสภาพแวดล้อมทางอาหารที่ดีต่อเด็กได้ด้วยตนเอง

Amsterdam Healthy Weight Approach (AHWA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2012 โดยหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นของเมืองอัมสเตอร์ดัม เพื่อแก้ไขภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็กอายุต่ำกว่า 19 ที่อาศัยอยู่ในอัมสเตอร์ดัม ซึ่งเด็กที่อยู่ในครอบครัวผู้อพยพและผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้

องค์ประกอบความสำเร็จของ AHWA ที่สามารถถ่ายทอดให้ประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ปรับเข้าใช้กับบริบทของตนเองได้ คือ

  • มองการแก้ปัญหาผ่านเลนส์เรื่องสิทธิเด็ก เพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน
  • ลงทุนงบประมาณในการวางแผนเชิงนวัตกรรมระดับเมือง
  • ปรับปรุงรูปแบบความร่วมมือในการจัดสรรทรัพยากร และ
  • สนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มคนที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษมาร่วมออกแบบการแก้ปัญหา

Quezon City ประเทศฟิลิปปินส์ ถิ่นที่อยู่ของคนยากจนเมืองที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์ ใช้วิธีการแบบบูรณาการในการวางแผนด้านอาหารให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนและร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ทั้งหน่วยงานด้านสุขภาพ การศึกษา การวางผังเมือง การดูแลสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ การจ้างงานบริการสาธารณะ ในการพัฒนาชุดนโยบายและโครงการเพื่อปรับปรุงความมั่นคงด้านอาหารและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหารตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา และยังสามารถสนับสนุนความช่วยเหลือทางอาหารให้คนเมืองได้ในช่วงโควิด-19

ความหลากหลายของผู้เล่นและภาคส่วนต่างๆ ที่ร่วมมือกันอย่างดี คือ จุดเริ่มต้นของความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบอาหารในเมืองให้ดีขึ้นและยั่งยืนขึ้น โดยการดำเนินการในเกซอนซิตี้ มีองค์ประกอบความสำเร็จที่โดดเด่น ดังนี้

  • สร้างความเป็นผู้นำในทุกระดับ
  • ให้แน่ใจว่ามีการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการของทุกภาคส่วน
  • สนับสนุนความร่วมมือเชิงนวัตกรรม ตั้งแต่การนำเสนอแนวความคิดจนถึงการนำไปใช้จริง และ
  • ใช้เรื่องเล่าที่ชัดเจนเมื่อพูดถึงความสำคัญของระบบอาหารที่เท่าเทียมและยั่งยืน

อ้างอิง
https://eatforum.org/learn-and-discover/cities-leading-the-way-towards-healthy-food-environments-for-children/
https://cities-today.com/industry/cities-investing-healthy-sustainable-food-environments-children/

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น