ถิรพร สิงห์ลอ
การศึกษาด้านการสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับประเด็นสุขภาพมารดาก่อนหน้านี้ พบว่า ‘การขยายระยะเวลาการลาหลังคลอด (Postnatal leave)’ มีข้อดีสำหรับมารดาและเด็กในระยะสั้น ขณะที่การศึกษาในบริบทของประเทศนอร์เวย์ “ผลของการลาคลอดเพื่อเลี้ยงดูบุตรแบบได้รับเงินเดือนที่มีต่อสุขภาพของมารดา” (The Impact on Paid Maternity Leave on Maternal Health) เผยแพร่ในวารสาร American Economic Journal: Economic Policy Vol. 13, No. 1, กุมภาพันธ์ 2564 หน้าที่ 67-105 พบผลกระทบ (ข้อดี) ระยะยาวของการลาคลอดเพื่อเลี้ยงดูบุตรแบบได้รับเงินเดือน (Paid maternity leave) ทั้ง ‘ก่อน’ และ ‘หลัง’ ที่กฎหมายของประเทศนอร์เวย์จะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมปี 1997 (พ.ศ. 2520) ซึ่งทำให้เห็นความเกี่ยวข้องอย่างเป็นเหตุเป็นผลในประเด็นข้อดีของการที่ผู้หญิงมีสิทธิ ‘ลาคลอดแบบได้รับเงินเดือน’ ซึ่งส่งเสริมให้ ‘สุขภาพของมารดา’ ดีขึ้น (healthier) จนกระทั่งย่างเข้าสู่วัยกลางคนที่อายุ 40 ปี
รองศาสตราจารย์ Meghan Skira จากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย (University of Georgia) ร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์ Aline Bütikofer ประจำสถาบัน Norwegian School of Economics และ Julie Riise จากมหาวิทยาลัยเบอร์เกน (University of Bergen) ทำการศึกษาประเด็นนี้แล้วพบว่ารายได้และการจ้างงานอาจไม่ได้มีนัยสำคัญต่อสุขภาพของมารดา กล่าวคือ เมื่อเป็นนโยบายที่ให้มารดามีสิทธิลาคลอดได้โดยยังคงได้รับเงินเดือนกันถ้วนหน้าทุกคนแล้ว อาจทำให้ความเครียดลดลง มีเวลาฟื้นตัวจากการคลอดบุตร ให้นมบุตร รวมถึงมีเวลาพักอยู่บ้านหลังคลอด ซึ่งสิทธิการลาคลอดฯ นี้เองอาจมีผลต่อสุขภาพมารดามากกว่า และเพราะว่ามี ‘เวลา’ ที่ว่านี้จึงทำให้มารดามีสุขภาพดีต่อไปอีกหลายปีหลังจากเด็กเกิด จนเมื่อมารดาเข้าสู่วัยกลางคน โดยประเทศนอร์เวย์ได้สืบต่อนโยบายนี้ต่อไปในปี 1987 และ 1992
ทีมผู้ทำการศึกษาใช้ข้อมูลเพื่อการบริหาร (administrative data) ในการวิจัยทางการแพทย์ รวมถึงข้อมูลการสำรวจสุขภาพของสตรีอายุประมาณ 40 ปี อาทิ การเกิด สุขภาพ รายได้ของมารดา ทั้งช่วงก่อนและหลังการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายในปี 1977 จาก Norwegian Institute of Public Health ที่มีการเก็บข้อมูลสุขภาพของประชากรอายุ 40 ปี เพื่อใช้เป็นเกณฑ์วัดมาตรฐานสุขภาวะที่ดีของประเทศอยู่แล้ว และพบว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกับสุขภาพของมารดามีอาทิ ค่า BMI ความดันโลหิต ระดับคลอเรสเตอรอล สุขภาพจิต พฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพอย่างการออกกำลังกายและการไม่สูบบุหรี่
อย่างไรก็ดี การศึกษาชิ้นนี้เป็นการช่วยชี้ให้เห็นความสำคัญของนโยบายเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว อย่างสิทธิการลาคลอดเพื่อเลี้ยงดูบุตรแบบได้รับเงินเดือนที่มีความเชื่อมโยงหรือส่งผลต่อสุขภาพของมารดา ทว่าการลาคลอดฯ ไม่ใช่ปัจจัยเพียงประการเดียวที่ส่งเสริมให้มารดามีสุขภาพที่ดี เพราะอาจมีปัจจัยอื่น เช่น สิทธิการลาป่วย สิทธิการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอื่น ๆ เป็นต้น
‘SDGs เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี มีการพูดถึงการลดอัตราการตายของมารดาและการวางแผนครอบครัว และเป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ มีการพูดถึงผู้หญิงกับการเข้าถึงงานอย่างเท่าเทียม’
อ่านต่อที่:
แหล่งที่มา:
https://www.news-medical.net/news/20210209/Study-shows-the-impact-of-paid-maternity-leave-on-maternal-health.aspx
https://www.aeaweb.org/articles?id=10.1257/pol.20190022
#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3 #SDG5
Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021