ก่อนไปสู่ ‘Healthy Ageing’ ต้องเข้าใจ 10 ความจริงของ ‘การสูงวัย และ สุขภาพ’

Healthy Aging หรือ การสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ คือ การเป็นผู้สูงวัยรักษาความสามารถในการใช้ร่างกายและจิตใจ ให้สามารถยังทำในสิ่งที่เป็นคุณค่าของชีวิตได้ และ Healthy Aging ยังเป็นพื้นฐานความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) ซึ่งหมายถึง จะเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 – Health and Well-being

ชีวิตที่ยืนยาว หมายถึง โอกาสสำคัญที่ไม่เฉพาะสำหรับตัวผู้สูงอายุและครอบครัวเท่านั้น แต่รวมถึงสังคมทั้งหมดอีกด้วย แต่ขอบเขตของโอกาสนี้ตั้งอยู่บนปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากคือ สุขภาพ

ความจริง 10 ประการ เกี่ยวกับ การสูงวัย และ สุขภาพ

1 – จำนวนประชากรสูงวัยในโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นจาก 900 ล้านคน เป็น 2 พันล้านคนในระหว่างปี 2015 – 2050 (เพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 22% ของประชากรโลกทั้งหมด) โดยแต่ละประเทศมีเวลาไม่เท่ากันในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

2 – มีหลักฐานน้อยมาก ที่บอกว่า ผู้สูงวัยในปัจจุบันจะมีสุขภาพดีกว่าผู้สูงวัยในอดีต

สัดส่วนของผู้สูงอายุในประเทศที่มีรายได้สูงที่ต้องการความช่วยเหลือในกิจกรรมพื้นฐาน เช่น การรับประทานอาหารหรือทำความสะอาดร่างกาย อาจลดลงเล็กน้อยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในความชุกของผู้สูงวัยที่มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตที่รุนแรงน้อยกว่า

3 – ปัญหาสุขภาพในผู้สูงวัยที่พบมากที่สุด คือ โรคไม่ติดต่อ

ผู้สูงวัยในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง คือผู้ที่ต้องประสบภาระทางสุขภาพมากกว่าผู้สูงอายุในประเทศที่มีรายได้สูง ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตก และโรคปอดเรื้อรัง สาเหตุ สาเหตุหลักของความทุพพลภาพคือ ประสาทสัมผัสบกพร่อง อาการเจ็บปวดที่คอและหลัง โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำ และประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับล่าง) ภาวะซึมเศร้า การหกล้ม โรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อม และโรคข้อเข่าเสื่อม

4 – เมื่อพูดถึงเรื่องสุขภาพ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ผู้สูงอายุ ‘ทั่วไป’

ความชราทางชีวภาพมีความสัมพันธ์อย่างหลวมๆ กับอายุของบุคคล ผู้สูงวัยอายุ 80 ปี บางคนมีสมรรภาพทางร่างกายและจิตใจใกล้เคียงกับคนอายุ 20 ปีหลายคน โดยที่สมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจของอีกหลายคนอาจเริ่มถดถอยในช่วงวัยที่น้อยกว่ามาก

5 – สุขภาพในวัยชราเป็นเรื่องกำหนดได้

แม้ว่าปัญหาสุขภาพบางประการของผู้สูงวัยอาจได้รับสืบทอดมาทางกรรมพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคม และสภาพแวดล้อมดังกล่าวจะเป็นตัวชี้นำโอกาสในชีวิตและพฤติกรรมด้านสุขภาพที่เริ่มตั้งแต่เด็ก ซึ่งหมายความว่า ผู้สูงวัยที่อยู่ในพื้นฐานมาจากครอบครัวด้อยโอกาสมักจะประสบปัญหาสุขภาพเมื่ออายุมากขึ้นมากกว่า และมีโอกาสน้อยกว่าในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น

6 – ปัจจุบัน การเหยียดวัย (ageism) อาจแพร่หลายมากกว่าการกีดกันทางเพศหรือการเหยียดเชื้อชาติ

การเหยียดวัย คือ การเหมารวมหรือการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคน โดยการดูอายุเป็นหลัก ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้สูงวัยและสังคม อคตินี้อาจขัดขวางการพัฒนานโยบายที่ดีและสามารถบ่อนทำลายคุณภาพการดูแลสุขภาพและการดูแลทางสังคมที่ผู้สูงวัยควรจะได้รับ

7 – การดำเนินการด้านสาธารณสุขที่ครอบคลุม จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานวิธีคิดเกี่ยวกับอายุและสุขภาพด้วย

ผู้สูงวัยทุกคนสามารถมี Healthy Ageing ได้ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการดูแลทางสังคมเพื่อคนสูงวัยมักถูกมองว่าเป็นเม็ดเงินจำนวนมากที่รัฐต้องเสียไป จึงควรเปลี่ยนมุมมองว่านี่คือการลงทุนเพื่อสร้างโอกาส และเป็นการเพิ่มความสามารถให้ผู้สูงวัยมีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งที่ดีอื่นๆ ให้สังคมต่อไป

8 – ระบบสุขภาพต้องปรับเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชากรสูงวัย

ระบบสุขภาพส่วนใหญ่ทั่วโลกยังไม่พร้อมที่จะตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ ที่มักมีอาการเรื้อรังหรือกลุ่มโรคเฉพาะในผู้สูงอายุ (geriatric syndromes) ระบบต้องสามารถให้การดูแลทั้งแบบมีผู้สูงวัยเป็นศูนย์กลางและแบบบูรณาการ โดยมุ่งเน้นไปที่การบำรุงรักษาสมรรถภาพที่มีอยู่ตามอายุ

9 – ในศตวรรษที่ 21 ทุกประเทศจำเป็นต้องมีระบบการดูแลระยะยาวแบบบูรณาการ

เปลี่ยนแนวคิดของการดูแลระยะยาวจากแค่การสร้างตาข่ายความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน (basic safety net) สำหรับผู้ที่เปราะบางที่สุด ไปสู่ระบบที่ใหญ่ขึ้นซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการทำงานของผู้สูงวัยได้อย่างเต็มที่ และรักษาความเป็นอิสระและศักดิ์ศรีของพวกเขาไว้ด้วย มีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้สูงวัยที่ต้องการความช่วยเหลือในชีวิตประจำวันในประเทศกำลังพัฒนา จะเพิ่มเป็นสี่เท่าภายในปี 2050

10 – Healthy Aging เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทุกระดับและทุกภาคส่วนของรัฐบาล

ตัวอย่างของการดำเนินการระหว่างภาคส่วน เช่น การกำหนดนโยบายและโครงการที่ขยายตัวเลือกที่อยู่อาศัย ทำให้อาคารและการขนส่งสามารถเข้าถึงได้กับคนทุกวัย ส่งเสริมความหลากหลายของระดับอายุในที่ทำงาน และปกป้องผู้สูงวัยจากความยากจนผ่านโครงการคุ้มครองทางสังคม การพัฒนาไปสู่ ‘การสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ’ คนทำงานจะต้องมีความเข้าใจในประเด็นและแนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับอายุมากขึ้น

อ้างอิง
https://www.who.int/features/factfiles/ageing/en/

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น