นักโทษจะกลับคืนสู่สังคมพร้อมกับการมีสุขภาพกายและใจดีได้ เริ่มต้นจากโภชนาการอาหารที่ดีในเรือนจำ

ถิรพร สิงห์ลอ

ในสหรัฐฯ ชนกลุ่มผิวสี (Black and brown communities) มักเป็นกลุ่มที่ประสบกับภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารในอัตราที่สูงเป็นทุนเดิม ทว่าการรณรงค์เรื่องการเข้าถึงอาหาร (Food Access) ที่ดีมีโภชนาการและมีความเป็นธรรมสำหรับทุกคนอย่างเสมอภาค มักหลงลืมกลุ่มประชากรที่อยู่ในเรือนจำไป องค์กรไม่แสวงหากำไร Impact Justice จึงได้ทำการศึกษาร่วม 18 เดือน ในบริบทเรือนจำทั่วทั้งประเทศสหรัฐฯ ที่มีการคุมขังนักโทษราว 1.3 ล้านคน โดยเผยแพร่รายงาน “Eating Behind Bars: Ending the Hidden Punishment of Food in Prison” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้เห็นความสำคัญของมาตรฐานอาหารในเรือนจำที่มีผลต่อผู้ถูกคุมขังในระยะยาว เพราะอาหารที่ดีเกี่ยวข้องกับทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต รวมไปถึงการรับรู้ถึงคุณค่าของตัวเองและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผ่านปฏิสัมพันธ์ที่มีต่ออาหารในแต่ละวัน ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะสนับสนุนให้คน ‘มีความพร้อม’ กลับคืนสู่สังคม

SDGs เป้าหมายที่ 2 ว่าด้วยการยุติความหิวโหย ความมั่นคงทางอาหาร การเข้าถึงอาหารและอาหารที่มีโภชนาการสำหรับทุกคน เป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยสุขภาพและสุขภาวะที่ดีทั้งกายและจิตใจ และเป้าหมายที่ 16 ว่าด้วยการเข้าถึงความยุติธรรม การมีสถาบันที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และมีความรับผิดรับชอบ

รายงานดังกล่าวทั้งหมด 6 ส่วน มาจากการสำรวจนักโทษในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงกลุ่มเพื่อนและครอบครัว 500 การสำรวจ โดยมีการสัมภาษณ์เชิงลึกกับอดีตนักโทษ  11 คน มีการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายคุมการประพฤติในอดีตและปัจจุบัน 43 คน จาก 12 รัฐ ตลอดจนมีการทบทวนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหารในเรือนจำใน 50 รัฐ ซึ่งมีการสำรวจหน่วยงานรัฐ 35 หน่วยงานด้วย พบว่าระบบอาหารในเรือนจำมีมาตรฐานต่ำทั้งที่โดยเฉลี่ยแล้วนักโทษหนึ่งคนจะต้องพึ่งพามื้ออาหารในเรือนจำประมาณ 3,000 มื้อ (โดยเฉลี่ยที่ 3 ปี) ทว่าอาหารมีปริมาณน้อย มีแต่คาร์โบไฮเดรต ไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง ผ่านกระบวนการมามาก แทบจะไม่มีผักและผลไม้ ซึ่งการขาดโภชนาการและสารอาหารที่จำเป็น หรือการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ จะนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการหรือมีโรคเรื้อรัง อาทิ ความดันโลหิตสูง ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคอ้วน ไปจนถึงส่งผลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรม ซึ่งสำหรับนักโทษบางรายพบว่า เมื่อออกจากเรือนจำแล้วกลับขาดสารอาหารมากกว่าตอนที่เข้าเรือนจำเสียอีก ประจวบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยิ่งทำให้สุขอนามัยในครัว คนครัว มื้ออาหาร และการส่งอาหารไปให้นักโทษที่ต้อง ‘ล็อคดาวน์’ ในห้องขัง เป็นไปอย่างยุ่งยาก อาหารมีไม่เพียงพอ ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่สะอาด เสี่ยงต่อโรค รวมถึงอาการอาหารเป็นพิษจากการบริโภคอาหารบูดและเน่าเสีย ซึ่งในรายงานได้มีการพูดถึงการสร้างระบบอาหารในเรือนจำให้โปร่งใสและมีความรับผิดรับชอบต่อผู้บริโภค (นักโทษ) ด้วย

นอกจากนี้ อาหารที่ถูกสุขอนามัย มีโภชนาการและสารอาหารที่เพียงพอ ยังส่งผลต่อความรู้สึกของนักโทษในแง่ที่ได้รับการปฏิบัติผ่านอาหารอย่างมนุษย์คนหนึ่งหรือไม่ กล่าวคือ อาหารมีนัยของวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ที่ดี การรักและเคารพตัวเอง (self-esteem) หากสิ่งที่สื่อผ่านอาหารออกมา เป็นระบบการปฏิบัติต่อกันที่ทำให้รู้สึกว่าถูกลดคุณค่า การกระทำผ่านอาหารนั้นจะเป็นเพียงการลงโทษที่กระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจ เพราะไม่ได้คำนึงถึงประเด็นเรื่องโภชนาการและสารอาหารเลย

อ่านรายงานฉบับเต็มที่:
https://impactjustice.org/impact/food-in-prison/#report

แหล่งที่มา:

#SDGWatch #ihpp #SDG2 #SDG3 #SDG16

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น