ไทยลงนามสัตยาบันเข้าเป็นภาคี RCEP สร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างอาเซียนและประชาคมโลก

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐสภาไทยได้โหวตเห็นชอบให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) หลังจากมีการลงนามร่วมกับอีก 14 ประเทศ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 37 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 (โดยมีการประกาศเจรจาอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี 2555)

RCEP มีสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ ได้แก่ 10 ประเทศจากกลุ่มอาเซียน (ASEAN) และคู่เจรจาอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (อินเดียถอนตัวเมื่อปี 2019) โดยถือเป็นเขตการค้าเสรี (Free-Trade Area: FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของประชากรโลก ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจมูลค่า GDP รวมกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 30% ของ GDP โลก

ประเทศสมาชิก RCEP ทั้ง 15 ประเทศ
Source: Tiger 7253, CC BY-SA 4.0 https://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0, via Wikimedia Commons

สำหรับความตกลง RCEP นี้ เป็นการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและประชาคมโลก เพิ่มการส่งออก สร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาคได้ ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจากกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน ทำให้การค้าระหว่างประเทศในเขตการค้าเสรีตามความตกลง RCEP ขยายตัวได้มากขึ้น ห่วงโซ่มูลค่าที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้เกิดการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความจำเป็นในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19

ในแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ RCEP ในวันลงนาม กล่าวถึง “ความรับรู้ว่าข้อตกลง RCEP มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตอบสนองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภูมิภาค และจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของภูมิภาค ผ่านกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่ที่ครอบคลุมและยั่งยืน”

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 17 – Partnership for the Goals มุ่งมั่นที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา (North-South) และความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South) โดยการสนับสนุนแผนระดับชาติเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มอัตราการส่งออกล้วนเป็นองค์ประกอบของการมีระบบการค้าซึ่งอยู่บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์สากล มีความเสมอภาค ยุติธรรม เปิดกว้าง และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย”

สหประชาชาติ


อ้างอิง
https://www.prachachat.net/economy/news-557270
https://www.un.or.th/globalgoals/th/global-goals/partnerships-for-the-goals/
https://asean.org/joint-leaders-statement-regional-comprehensive-economic-partnership-rcep-2/
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39027

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น