ถิรพร สิงห์ลอ
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการเคลื่อนไหวรณรงค์ทางสังคมและการเมืองของมวลชนและเยาวชนนักประชาธิปไตยมากขึ้นทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ จนถึงเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 กับกรณี “อัญชัญ” ข้าราชการเกษียณในวัย 60 ปี ที่ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกตามกฏหมายอาญามาตรา 112 อย่างรุนแรงที่สุดเป็นเวลา 87 ปี และมีการลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือกว่า 43 ปี (29 ปี 174 เดือน) นั้น
(เจนีวา) วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ประกอบด้วยผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur) ว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก (rights to freedom of opinion and expression) สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม (rights to peaceful assembly and of association) และคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ในฐานะกลไกพิเศษหรือ ‘กลไกตรวจสอบข้อเท็จจริง’ และเป็นอิสระจากทั้งสหประชาชาติและรัฐบาลประเทศสมาชิก ที่เคยได้หยิบยกกรณีของ ‘อัญชัญ’ เมื่อปี 2559 และครั้งนี้ ได้แสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อการใช้กฎหมาย “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ของประเทศไทย ดำเนินคดีต่อผู้วิจารณ์สถาบันในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นและอย่างเคร่งครัดขึ้น โดยเฉพาะต่อเยาวชนไทย
โดยที่ “การกำหนดโทษที่รุนแรงมากขึ้น ได้สร้างความหวาดกลัวในการใช้เสรีภาพด้านการแสดงออก จำกัดพื้นที่ของพลเรือนและการเข้าถึงเสรีภาพขั้นพื้นฐาน” จึงได้เรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการ
- ทบทวนและยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์
- ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ถูกแจ้งข้อหาด้วยมาตราดังกล่าว และ
- ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังอันเนื่องมาจากการใช้ ‘สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ’
“…ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ บุคคลสาธารณะซึ่งหมายรวมถึงเหล่าผู้ใช้อำนาจสูงสุดทางการเมือง อาทิประมุขแห่งรัฐ ย่อมตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ด้วยเหตุแห่งความชอบธรรม” “ ข้อเท็จจริงที่ว่ารูปแบบของการแสดงความคิดเห็นบางประการอาจถูกพิจารณาว่าเป็นการดูหมิ่นหรือสร้างความตกใจต่อบุคคลสาธารณะนั้น ไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอในการสร้างความชอบธรรมให้สามารถบังคับใช้บทลงโทษได้อย่างรุนแรงเช่นนั้น”
SDG16 ‘Promote peaceful and inclusive societies for sustainable development, the provision of access to justice for all, and building effective, accountable institutions at all levels’
ประเด็นการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 ‘Promote peaceful and inclusive societies for sustainable development, the provision of access to justice for all, and building effective, accountable institutions at all levels’ ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมทุกคนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรม มีการสร้างสถาบัน (ประเทศ หน่วยงาน องค์กร) ที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ โดยมีเป้าประสงค์ (targets) ทั้งหมด 12 เป้าประสงค์ กล่าวโดยรวมเป็นเรื่องของความมั่นคงและความปลอดภัย ความยุติธรรม ธรรมาภิบาลและนิติรัฐ สงครามและสันติภาพ อาวุธ ความรุนแรง คอรัปชั่น และสิทธิมนุษยชน
สำหรับ ม. 112 นี้เกี่ยวข้องกับเป้าประสงค์ที่ 16.3 และ 16.b
16.3 ‘Promote the rule of law at the national and international levels and ensure equal access to justice for all’ ส่งเสริมนิติรัฐในระดับชาติและระหว่างประเทศ รวมทั้งสร้างหลักประกันให้มีการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมสำหรับทุกคน
16.b ‘Promote and enforce non-discriminatory laws and policies for sustainable development’ ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
*ผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วย:
Ms. Irene Khan (ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก)
Ms. Leigh Toomey (หัวหน้าผู้รายงานพิเศษ)
Ms. Elina Steinerte (รองประธาน)
Ms. Miriam Estrada-Castillo, Mr. Mumba Malila, Mr. Seong-Phil Hong (คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ)
Mr. Clément Nyaletsossi Voule (ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม)
แหล่งที่มา:
https://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=26727&LangID=E
https://news.un.org/en/story/2021/02/1084112
https://www.un.org/ruleoflaw/sdg-16/
#SDGWatch #SDG16