Change agent ตัวจริง: หรือชนพื้นเมืองคือผู้ขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ อย่างแท้จริงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ขณะนี้ ความเคลื่อนไหวประเด็น #saveบางกลอย ซึ่งอยู่ในสายตาประชาคมระหว่างประเทศเสมอมา กลับมาร้อนแรงขึ้นหลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวกับกรณี ‘บิลลี่ พอละจี’ และ ‘ปู่คออี้’ จนเมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมา ชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงซึ่งถูกบังคับอพยพลงจากป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อย่างไม่เป็นธรรม (ในปี 2539 และปี 2554) และต้องเผชิญการปรับตัวกับวิถีชีวิตใหม่นอกป่ารวมถึงปัญหาการไม่มีที่ดินทำกิน ในจำนวนร่วมประมาณ 30-40 คนนั้นได้เลือกเดินทางกลับไปตั้งหลักถิ่นฐาน ณ บ้านดั้งเดิมที่หมู่บ้านบางกลอยบนและ ‘ใจแผ่นดิน’ ที่เคยได้ใช้ชีวิตทำมาหากินอยู่กับป่ามาตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นเวลากว่าร้อยปี ดังปรากฏหลักฐานในแผนที่ทุกฉบับตั้งแต่ปี 2455 ก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อย่างไรก็ดี การกระทำดังกล่าวนั้นขัดกับนโยบายและกฎหมายอนุรักษ์/ทวงคืนผืนป่าของรัฐที่มองว่าเป็น กลุ่มคนบุกรุกเข้ามาใหม่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากความเข้าใจเรื่อง ‘การเคารพและอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน’ ที่ยังอยู่ในวงจำกัด ทำให้ความพยายามผลักดันขอขึ้นทะเบียนเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติกับองค์การยูเนสโก (UNESCO) เป็นคำถามที่ต้องใคร่ครวญพิจารณาความยินยอมและการมีส่วนร่วมตัดสินใจในชะตาชีวิตของชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง ความสอดคล้องและสอดรับกับหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิในที่ดิน ตลอดจนวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนคนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงด้วย

การกลับบ้านเก่ายังเป็นสัญญาณการเดินทางเพื่อเตรียมทำ ‘ไร่หมุนเวียน’ ผสมผสานการปลูกพืชผลหลายชนิดตามวงรอบฤดูกาลตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นทั้งวิถีชีวิตดั้งเดิมและระบบเกษตรกรรมของชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงในการผลิตอาหารเพื่อบริโภค รักษาดิน ป่า และอากาศอย่างยั่งยืน ตั้งแต่เริ่มกระบวนการเตรียมพื้นที่ ปลูก ไปจนจบที่การเก็บเกี่ยวผลผลิต อันเป็นวิถีการเกษตรที่นักวิชาการข้ามสาขาและนานาชาติให้การยอมรับในเรื่องความยั่งยืน

นอกจากกรณีพิพาทของหมู่บ้านบางกลอยแล้วยังมีชนพื้นเมืองทั้งไทยและทั่วโลกที่ประสบปัญหาในทำนองเดียวกัน SDG Move จึงเชิญชวนผู้อ่านสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวกรณี #saveบางกลอย พร้อมทำความเข้าใจผ่านเลนส์หลักการและความตั้งใจของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) กับชนพื้นเมืองทั่วโลก พร้อมข้อเท็จจริงที่ชวนตั้งคำถามว่า หรือแท้จริงแล้วชนพื้นเมืองซึ่งมักถูกละเลยทิ้งไว้ข้างหลัง คือกลุ่มคนที่ทำให้เกิด ‘ความยั่งยืน’ ได้อย่างแท้จริง

ชนพื้นเมืองกับความยั่งยืน

ผู้พิทักษ์ รักษา ปกป้องป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ

ป่าในหลายส่วนของโลกที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์และไม่ถูกกระทบจากสังคมภายนอกเป็นเพราะชนพื้นเมืองมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ (conservation) และปกป้องเอาไว้หลายร้อยปีไม่ให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า จากองค์ความรู้ดั้งเดิมในเรื่อง ‘ที่ดิน’ และ ‘อาณาเขต’ ของตนที่ได้เก็บเกี่ยวเรื่อยมาจนเกิดเป็นความเคารพธรรมชาติ ความผูกพันอยู่ร่วมกับป่า และความเข้าใจเชิงลึกในระบบนิเวศท้องถิ่นอย่างถ่องแท้ รู้รักการค้ำจุน รักษา และฟื้นฟู (maintenance, preservation, restoration) ที่ดินและป่าจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้อาณาเขตของชนพื้นเมืองเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพของโลก

ผู้สรรสร้างความมั่นคงทางอาหารและการผลิตอย่างยั่งยืน

องค์ความรู้และประสบการณ์ข้างต้นทำให้ชนพื้นเมืองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารและใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยสิทธิในที่ดินและทรัพยากรนำมาซึ่ง ‘ระบบการผลิตอาหารดั้งเดิม’ ที่เชื่อมโยงวัฒนธรรม ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ สุขภาพและสุขภาวะที่ดี ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงสุขภาพของระบบนิเวศ (ecosystem health) ต่างจากการผลิตที่เน้นอาหารผ่านกระบวนการมามาก (highly processed food) พันธุ์พืชและสัตว์ที่เก็บเกี่ยว เลี้ยง และซื้อขายที่ไม่มีความหลากหลายในปัจจุบัน อันส่งผล กระทบเชิงลบต่อความมั่นคงอาหารรวมทั้งทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ

ป่า-ความหลากหลายทางชีวภาพ-อาหาร-การผลิต สู่ภูมิคุ้มกันและต้านทาน ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’

แม้ว่าชนพื้นเมืองจะเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทว่าวิถีชีวิตและองค์ความรู้ดั้งเดิมในระบบนิเวศ ระบบอาหาร และอาณาเขตของชนพื้นเมืองที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ ‘การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม’ โดยไม่แบ่งแยกหรือยกความสำคัญของมนุษย์ให้เหนือกว่า ทำให้ชนพื้นเมืองยังคงมีรากฐานของภูมิคุ้มกัน (resilience) ต่อทั้งโรคระบาดและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

ภาพจาก Facebook Page หมุนเวียนอย่างยั่งยืน โพสต์วันที่ 9 พฤษภาคม 2561
https://www.facebook.com/moonwian/posts/1929983950359393

ชนพื้นเมืองกับ SDGs

แม้นจะมีข้อเท็จจริงหลายประการสนับสนุนว่าชนพื้นเมืองเป็นผู้ค้ำจุน ‘ความยั่งยืน’ ทว่าชนพื้นเมืองทั่วโลกกลับมีความเปราะบางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่พวกเขาต้องเผชิญมักเกี่ยวกับการมีภาพจำ อาทิ การอยู่ในภาวะความยากจน ไม่มีงานทำ ไม่ได้รับการศึกษา ไม่สามารถเข้าถึงโอกาส บริการสาธารณะและการคุ้มครองทางสังคม อาจถูกเลือกปฏิบัติ (discriminate) ไปจนถึงกรณีการถูกบังคับให้อพยพ (forced migration) ด้วยเหตุนี้ชนพื้นเมืองจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายลำดับต้น ๆ ที่ประชาคมโลกควรให้ความสำคัญ เพื่อดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030  ภายใต้หลักการพัฒนาที่ครอบคลุม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้งหมด 17 เป้าหมายมีหลักการตั้งอยู่บนฐาน ‘สิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ นิติรัฐและความยุติธรรม ความสงบสุข ความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติอย่างแท้จริง ‘สำหรับทุกคน’ สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) โดยที่หลักการความครอบคลุม (Inclusiveness) ให้ความสำคัญกับการชี้ประเด็นของกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุด เปราะบางที่สุด และที่มักถูกเบียดขับให้เป็นชนชายขอบ (marginalization) ถูกแสวงหาผลประโยชน์ (exploitation) และมักไม่ถูกนับรวม (exclusion) เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยการสนับสนุนการดำเนินการที่มี ‘คนเป็นศูนย์กลาง’ ให้มี ‘ส่วนร่วม’ ตัดสินใจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จวบจนการจับตาประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ การบังคับให้สูญหาย

‘หลัก FPIC’ (Free, Prior and Informed Consent) ของชนพื้นเมือง

SDGs ยังได้สะท้อนความสัมพันธ์กับชนพื้นเมือง โดยเกี่ยวข้องกับ ‘ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (UN Declaration on Rights of Indigenous Peoples: UNDRIP)’ ที่คำนึงถึง ‘หลัก FPIC’ (Free, Prior and Informed Consent) สิทธิสำหรับชนพื้นเมืองที่จะมีส่วนร่วมตัดสินใจและให้ความยินยอมกับกิจการใด ๆ ที่จะกระทบต่อกลุ่มและอาณาเขต ถึงแม้จะให้ความยินยอมแล้วก็สามารถเพิกถอนได้ทุกเมื่อ เพราะถือเป็นสิทธิตามหลักการกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง (self-determination) SDGs ตระหนักดีว่าองค์ความรู้ดั้งเดิมและวิถีชีวิตของชนพื้นเมือง เป็นหมุดหมายของความยั่งยืนที่สำคัญ อาทิ

  • SDG เป้าหมายที่ 1 (ที่ดิน – ทรัพยากร)
    เป้าประสงค์ 1.4 ‘คนยากจนและกลุ่มผู้เปราะบางมีสิทธิเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐาน การถือกรรมสิทธิ์ และใช้ประโยชน์เหนือที่ดินและทรัพย์สิน’ ซึ่ง ‘สิทธิและหลักประกันในที่ดิน อาณาเขต และทรัพยากร’ นี้เองที่เป็นหัวใจของชนพื้นเมือง

“Land for Indigenous Peoples is not just a means of production. It is an interactive space for us to engage with all of our livelihood options and opportunities. If you remove the land from the discussion, you are leaving us completely off—not just behind, but completely off— the discussion.”

High-Level Political Forum, กรกฎาคม 2560
  • SDG เป้าหมายที่ 2 (ความมั่นคงทางอาหาร – เป้าประสงค์ที่ 2.4 วิถีการเกษตรที่ยั่งยืน)
  • SDG เป้าหมายที่ 11 (ความเป็นชุมชน ความผูกพันกับที่ดินที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของตัวตนและวัฒนธรรมส่งต่อกันเป็นมรดกจากบรรพบุรุษ – เป้าประสงค์ที่ 11.4 มรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทางธรรมชาติ)
  • SDG เป้าหมายที่ 12 (เป้าประสงค์ที่ 12.2 การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ –  เป้าประสงค์ที่ 12.8 การพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ)
  • SDG เป้าหมายที่ 13 ­(ภูมิคุ้มกันรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)
  • SDG เป้าหมายที่ 15 (ป่าไม้ – ความหลากหลายของพันธุ์พืช)
  • SDG เป้าหมายที่ 16 (การมีส่วนร่วมตัดสินใจ – สิทธิมนุษยชน)

“การส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างเป็นผล อย่างทั่วถึง และอย่างเท่าเทียม ของชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มชนพื้นเมืองและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้น ทั้งนี้โดยผ่านการกำหนดกฎหมาย นโยบาย และยุทธศาสตร์อันเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นให้เกิดการคุ้มครองอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ การบริหารจัดการ และการนำเสนอพื้นที่มรดกโลก (วรรค 119) … องค์ความรู้ตามจารีตประเพณีและองค์ความรู้ของชนเผ่าพื้นเมืองที่เป็นของชุมชนและกลุ่มชนพื้นเมือง ทั้งนี้โดยได้รับความยินยอมทั้งปวงที่จำเป็น โดยมีเป้าหมายเพื่อสะท้อนให้เห็นบทบาทในการอนุรักษ์และการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก พื้นที่แนวกันชน และโครงสร้างพื้นฐานที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (วรรค 215)”


แนวปฏิบัติตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกกับบทบาทของกลุ่มชนพื้นเมืองในการจำแนก บริหารจัดการ คุ้มครอง และนำเสนอมรดกโลก, แปลโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

สถานการณ์ #saveบางกลอย ปัจจุบันกับทางออกอย่างสันติและยั่งยืน

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงที่มีการพูดถึงสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนพื้นเมือง เป็นข้อกฎหมาย/นโยบายที่ชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงและภาคประชาสังคมประสงค์ให้ทางภาครัฐยึดถือปฏิบัติ เพราะเป็นการให้ความคุ้มครองกับชุมชนดั้งเดิมของชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง รวมถึงยอมรับการจัดการทรัพยากรและใช้ประโยชน์จากป่าและที่ดินตามวิถีชีวิตเพื่อประกอบอาชีพ  สอดคล้องกับแนวคิด “การจัดการทรัพยากรร่วม” ที่มุ่งสร้างกติการ่วมกันหาทางออกอย่างตรงจุดมากกว่าเน้นทำให้การถือครองที่ดินเป็นคดีอาญาในกรณีการบุกรุกป่า นอกจากนี้ ชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยได้ออกคำร้องขอให้ภาครัฐทำความเข้าใจและยอมรับให้สิทธิทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมด้วยการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นวิถีการเกษตรที่ไม่ได้ทำลายทรัพยากรป่าไม้

และเมื่อใช้เลนส์ SDGs มองประเด็นชนพื้นเมือง ก็จะช่วยทำให้เห็นภาพรวมและความสำคัญของชนพื้นเมืองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถึงกระนั้น ต้องไม่ลืมว่า SDGs ดำเนินไปพร้อมกับการเคารพความหลากหลายของสังคมพหุวัฒนธรรม เคารพสิทธิในวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองและหลักการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการกำหนดเขตแดนของที่ดิน (land demarcation) การปกป้องไม่ให้เกิดการแย่งยึดที่ดิน (land grabbing) และการรุกล้ำที่ดิน (encroachment) เพื่อสร้างหลักประกันให้ชนพื้นเมืองมีสิทธิในที่ดิน อันจะนำมาซึ่งองค์ความรู้ของชนพื้นเมืองที่มี “ความยั่งยืน” อยู่ในทุกย่างก้าวของวิถีชีวิต เป็นคุณูปการต่อเราทุกคนให้ได้เรียนรู้และนำมาผสมผสานเพื่อผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

อ้างอิง:

ILO: Sustainable Development Goals: Indigenous Peoples in Focus
UNESCO: World Heritage and Indigenous Peoples
IFAD: Indigenous food systems are at the heart of resilience
FAO: Indigenous peoples (FPIC)
What Do the Sustainable Development Goals Mean for Indigenous Peoples?
บทความพิเศษแก่งกระจาน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มกราคม 2021
ข่าววันที่ 15 มกราคม 2564 สำนักข่าวชายขอบ และ ข่าววันที่ 19 มกราคม 2564 greennews
“คดีบุกรุกป่า” ทำไมจัดการด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช่คำตอบ

อ่านเพิ่มเติม ‘หัวใจสำคัญของวิถีชีวิตวัฒนธรรมกะเหรี่ยง และคุณูปการของการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน’

ช่องทางติดตามประเด็น #saveบางกลอย :
Cross Cultural Foundation (CrCF) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC
ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ มช.

ติดตามการประชุมของชนพื้นเมืองครั้งที่ 5 (วันที่ 2-4 และ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เรื่องคุณค่าของระบบอาหารของชนพื้นเมือง : ภูมิคุ้มกันในบริบทของการแพร่ระบาดของโควิด-19) ที่: https://www.ifad.org/en/ipforum2021

#SDGWatch #ihpp #SDG1 #SDG2 #SDG11 #SDG12 #SDG13 #SDG15 #SDG16

Last Updated on กุมภาพันธ์ 13, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น