จากกรณี “ครีมฝาแดง” เนื้อสีเหลืองข้น ไม่มียี่ห้อหรือฉลากใดๆ ที่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นบนแอป Tiktok โดยมีการอ้างว่าใช้แล้วผิวจะขาวใสใน 3-7 วัน หรือก่อนหน้านั้น คือ ข้อความลูกโซ่ที่ถูกส่งผ่านแอปพลิเคชั่น Line ถึงความสามารถในการรักษาโรคมะเร็งของ “มะนาวสองลูกโซดาหนึ่งขวด” ที่วนเวียนส่งต่อมาหลายปีโดยเฉพาะในกรุ๊ปแชตของเหล่าผู้สูงอายุในบ้าน นี่คือตัวอย่างของข้อมูลด้านสุขภาพผิดๆ ที่หลั่งไหลอยู่ในโลกออนไลน์ และสร้างความสับสนให้สังคมจนหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสุขภาพต้องคอยแก้ข่าวอยู่บ่อยครั้ง
ข้อมูลด้านสุขภาพที่หลั่งไหลอยู่มีทั้งที่ข้อมูลจริง-เท็จที่ดูเหมือนว่าจะมีข้อมูลเท็จเสียมากกว่า ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรืออวดอ้างสรรพคุณเกินจริงเหล่านั้น อาจส่งผลร้ายถึงผู้ที่หลงเชื่อและทำตามจนเกิดความสูญเสียถึงแก่ชีวิตในบางราย หรือทำให้เสียโอกาสในการวินิจฉัยและการรักษาโรคอย่างทันท่วงทีเพราะเลือกปฏิบัติตามแนวทางที่เชื่อว่าดีแทนการพบแพทย์หรือที่ปรึกษาด้านสุขภาพที่น่าเชื่อถือ แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ก็ยังคงมีคนอีกกลุ่มที่มีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม แต่สาเหตุนั้น ไม่ได้มาจากการได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่มาจากความไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพที่มีประโยชน์ได้เลย ดังนั้น “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” หรือ Health Literacy ของประชาชนจึงเป็นประเด็นที่สำคัญระดับโลกที่ภาครัฐต้องส่งเสริมอย่างเร่งด่วน
“ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy)" หมายถึง ความสามารถหรือทักษะของบุคคลในการเข้าถึง เข้าใจข้อมูลสุขภาพ โต้ตอบซักถาม จนสามารถประเมิน ตัดสินใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อการจัดการสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม และสามารถบอกต่อผู้อื่นได้” อ้างอิง – กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ความรอบรู้ด้านสุขภาพที่ไม่เพียงพอ ทำให้ประชาชนมีข้อมูลด้านตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพน้อยลง เพิ่มพฤติกรรมเสี่ยง สุขภาพแย่ลง มีความสามารถในการจัดการสุขภาพของตนเองไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น การใช้ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณในระบบสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ การดำเนินการเชิงขับเคลื่อนในระดับนโยบายประเทศจึงเป็นเรื่องจำเป็น
การขับเคลื่อนความรอบรู้ด้านสุขภาพในประเทศไทย
รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนมากขึ้น โดยมีการยกระดับการปฏิรูปความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ กำหนดในแผนการพัฒนาของประเทศและหน่วยงานรัฐ โดยคร่าวดังนี้
- ประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ – แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (2561 – 2565) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีประเด็นและข้อเสนอในการปฏิรูป ระบบสาธารณสุขที่ขับเคลื่อนต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กำหนดให้ การปฏิรูปความรอบรู้และการสื่อสารสุขภาพ เป็น 1 ใน 10 ประเด็นหลัก
- แผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) (2561 – 2580) กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพอยู่ในยุทธศาสตร์ 20 ปีของกระทรวง และอยู่ในวาระปฏิรูปเร่งด่วนของกระทรวง
- แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560 – 2564) กำหนดเป้าหมายให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย มีความรอบรู้ด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การเจ็บป่วยและตายจากโรคที่ป้องกันได้ลดลง โดยกำหนดเครื่องชี้วัดว่า ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 (ระดับดีมาก)
- กรมอนามัย เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน ได้วางแผนการขับเคลื่อนความรอบรู้ด้านสุขภาพและการสื่อสารคุณภาพ 10 ปี (2560– 2569) โดยมีเป้าหมายให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate Societies) และมีกรอบแนวคิดและดำเนินการให้ “Health Literacy เป็นรากฐานของระบบสุขภาพ” และจัดตั้ง สำนักงานโครงการขับเคลื่อนกรมอนามัย 4.0 เพื่อเพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน (สขสร.)
- สมาคมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพไทย (Thai Health Literacy Association : THLA) ตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ด้านความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไป โดยจัดทำ
- 66 Key Message ประเด็นสื่อสารหลัก 66 ข้อ เพื่อความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน
- สำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไป พ.ศ. 2562 ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า คนไทยร้อยละ 19.09 มีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอที่จะมีส่วนร่วมหรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพและบริการสุขภาพในบริบทการบริการสุขภาพ การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพและผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพ เพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและสมาชิกในครอบครัวได้
ความรอบรู้ด้านสุขภาพ และ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
หลังจาก UN ประกาศวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030) ในปี 2015 ปีถัดมาองค์การอนามัยโลก หรือ WHO จึงใช้การประชุมส่งเสริมสุขภาพโลกครั้งที่ 9 (9th Global Conference on Health Promotion) ในปี 2016 ที่นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน วางจุดยืนหลัก คือ “Promote Health, Promote Sustainable Development ” และออกคำประกาศเซี่ยงไฮ้ ต่อการส่งเสริมสุขภาพ ในวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Shanghai Declaration on Promoting health in the 2030 agenda for Sustainable Development) โดย 3 เสาหลักของคำประกาศต่อการส่งเสริมสุขภาพ คือ ธรรมาภิบาล (Good Governance), เมืองเพื่อสุขภาพ (Healthy City) และ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy)
ประเด็นเรื่องสุขภาพนั้นมีเป้าหมายของตัวเองอยู่แล้วในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Develpment Goals: SDGs) ทั้ง 17 ข้อ คือ SDG 3 (สร้างหลักประกันให้มีชีวิตที่แข็งแรงและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย) แต่ประเด็นเรื่องสุขภาพและปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพต่างมีความเชื่อมโยงกับอีกหลายเป้าหมาย ในลักษณะที่สอดคล้องและเสริมแรง ส่งผลประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนซึ่งกันและกัน อย่างแยกขาดไม่ได้
WHO ได้สรุปความสัมพันธ์ของความรอบรู้ด้านสุขภาพและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
SDG 1 : No Poverty – ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่
ผู้ที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับสูงกว่ามีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีกว่ สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการด้านสุขภาพ รวมถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ดีกว่า จึงทำให้สามารถดูแลตนเองและครอบครัวจากการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ทันตั้งตัวได้ เช่น จากความเจ็บป่วย สภาพอากาศสุดขั้ว ความผันผวนของตลาด ซึ่งจะเป็นสาเหตุในการตกไปสู่ความยากจนเนื่องจากไม่สามารถทำงานได้ หรือไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้
ในทางกลับกัน การขจัดความยากจนจะช่วยให้ความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนดีขึ้น เพราะผู้คนจะมีความสามารถในการเข้าถึงการศึกษา อินเตอร์เน็ต หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
SDG 2 : Zero Hunger – ขจัดความอดอยาก บรรลุความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
ผู้ที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับสูงกว่าจะสามารถเข้าใจข้อมูลโภชนาการได้ดีขึ้น จึงเลือกทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดปัญหาทั้งภาวะโภชนาการต่ำและโภชนาการเกิน ช่วยยุติภาวะทุพโภชนาการในทุกรูปแบบ การได้รับสารอาหารที่เหมาะสมตั้งแต่เด็กจะเป็นประโยชน์ไปตลอดชีวิต ตัวอย่าง มารดาที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ จะเข้าใจประโยชน์ทางโภชนาการของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงเป็นการสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ทารกและเด็กด้วย
SDG 4 : Quality Education – สร้างการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน
วัยรุ่นเพศหญิงที่สามารถเข้าถึงข้อมูลทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ได้มากกว่า จะมีความรู้ในการป้องกันตนเองจากชื้อ HIV โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้พวกเธอมีโอกาสอยู่ในระบบการศึกษานานขึ้น อีกทั้งการสร้างพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและการออกกำลังกายจะช่วยพัฒนาระบบความคิดและสมองของนักเรียนให้พร้อมต่อการเรียนรู้ด้วย
ในขณะเดียวกันการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียมในโรงเรียนจะช่วยพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพของนักเรียนโดยอ้อม ผ่านการสอนอ่าน เขียน และคิดเชิงวิเคราะห์ และโดยตรงผ่านบทเรียนเรื่องพฤติกรรมเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
SDG 8 : Decent Work and Economic Growth – ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า และงานที่ดีสำหรับทุกคน
ความพยายามในการยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพในหมู่คนงาน หรือผู้ใช้แรงงาน ให้ตระหนักถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน เช่น ปัญหาแร่ใยหินในอุตสาหกรรมซีเมนต์ จะช่วยเพิ่มความสามารถของแรงงานในการเรียกร้องสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและปลอดภัยขึ้นให้ตนเอง
SDG 9 : Industry
, Innovation and Infrastructure – พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น ส่งเสริมกระบวนการอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน และสนับสนุนนวัตกรรม
การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลเทคโนโลยีการสื่อสารและอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุม จะช่วยยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนได้ เพราะพื้นที่เหล่านี้คือศูนย์กลางของข้อมูล และเมื่อประชากรมีความรอบรู้ด้านสุขภาพดีขึ้นจากการเข้าถึงเทคโนโลยีก็จะช่วยผลักดันเป้าหมายนี้ให้เดินหน้าไปอีก
SDG 10 : Reduced Inequalities – ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ
ประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง และคนที่มีฐานะยากจนในทุกประเทศจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในสัดส่วนที่มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น เช่น การตกเป็นเหยื่อการตลาดของสินค้าเช่น ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารและเครื่องดื่มที่มีความหวาน ดังนั้น การลงทุนเพื่อเพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพของกลุ่มคนรายได้น้อยจะช่วยให้พวกเขามีการตัดสินใจเลือกบริโภคสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น มีข้อมูลด้านการบริการด้านสุขภาพ เป็นการลดความไม่เท่าเทียมของทั้งคนในประเทศเองและระหว่างประเทศด้วย
หากไม่มีการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนด้อยโอกาสและคนชายขอบ ยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะต้องอยู่ในความยากจนและความไม่เท่าเทียมต่อไป การมีสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์ทำให้เสียความสามารถและโอกาสในการทำงานและหารายได้ ทำให้ตนเองและครอบครัวต้องทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
SDG 16 : Peace, Justice and Strong Institutions – สร้างเสริมสังคมที่สงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างกระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้ และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ และเปิดกว้างในทุกระดับ
นอกไปจากประโยชน์โดยตรงต่อสุขภาพตนเองเท่านั้น ผู้ที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพมากกว่าจะมีพลังในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้มีความรับผิดชอบต่อประเด็นด้านสุขภาพที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเข้าถึงยาที่จำเป็น การจัดการมลพิษทางอากาศที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ หรือเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายและแนวปฏิบัติด้านสุขภาพที่ไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม
หากพิจารณาว่าความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสุขภาพนั้นเป็นโรคร้าย ก็คงเป็นโรคที่มีอัตราการเกิดสูงเป็นพิเศษในกลุ่มคนยากจนและคนด้อยโอกาส ประชากรที่มีรายได้ต่ำมีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่า ความพยายามเพื่อเพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชนทุกคนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมในด้านสุขภาพและยังประโยชน์ต่อการพัฒนาในมิติอื่นๆ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุตามวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2030
อ้างอิง
9th Global Conference on Health Promotion, Shanghai 2016 https://www.who.int/healthpromotion/conferences/9gchp/en/
การขับเคลื่อน Health Literacy ในประเทศไทย http://doh.hpc.go.th/bs/topicDisplay.php?id=444
การขับเคลื่อนความรอบรู้ด้านสุขภาพและการสื่อสารคุณภาพ กรมอนามัย http://doh.hpc.go.th/data/HL/HL_DOH_drive.pdf
รายงานการสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไป พ.ศ. 2562 https://www.hsri.or.th/research/detail/12679
อ่านเพิ่มเติม
Health Literacy 66 key message เพื่อความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน
WHO – Health literacy The solid facts
เว็บไซต์ สำนักงานโครงการขับเคลื่อนกรมอนามัย 4.0 เพื่อความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน