การศึกษาใหม่พบว่า 1 ใน 5 ของจำนวนการตายทั่วโลก มีสาเหตุจากมลพิษจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

จากการศึกษาใหม่ของ Harvard University ร่วมกับ  University of Birmingham, the University of Leicester and University College London พบว่า ในปี 2018 คนมากกว่า 8 ล้านคนทั่วโลก เสียชีวิตจากมลพิษจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งคิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตทั่วโลกในปีนั้น หรือเกือบ 1 ใน 5 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด ตัวเลขนี้สูงเกือบสองเท่าของระดับที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ในปี 2016 องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทั่วโลกอยู่ที่ 4.2 ล้านคน

จากงานวิจัย Global mortality from outdoor fine particle pollution generated by fossil fuel combustion: Results from GEOS-Chem ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Research นักวิจัยใช้เครื่องมือสร้างแบบจำลองบรรยากาศ 3 มิติ เพื่อระบุพื้นที่ที่มีความเข้มของของมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองอนุภาคเล็ก (PM 2.5) สูงที่สุด ร่วมกับข้อมูลของ WHO ที่ระบุว่าประชากรโลกราว 91% อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ระดับมลพิษทางอากาศสูงเกินระดับปลอดภัยตามข้อแนะนำของ WHO พบว่า ภูมิภาคที่มีมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลสูงสุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกา ทวีปยุโรป และทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอัตราการเสียชีวิตของคนในพื้นที่สูงสุด

นักวิจัยคาดว่าผลลัพธ์จากการตัดสินใจลดมลพิษจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของประเทศจีนในปี 2018 ที่สามารลดได้ถึงเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ปล่อยในปี 2012 สามารช่วยชีวิตผู้คนได้ถึง 2.4. ล้านคนทั่วโลก รวมถึงประชากรในประเทศจีนเองถึง 1.5 ล้านคน

Prof. Joel Schwartz นักวิจัยจาก Harvard University กล่าวว่า เมื่อมีการถกเถียงถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล มักให้ความสนใจไปที่ประเด็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมองข้ามความเสียหายด้านสุขภาพจากมลพิษที่ปล่อยออกมาพร้อมกัน เขาหวังว่าผลวิจัยถึงตัวเลขผลกระทบด้านสุขภาพของคนทั่วโลกจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล สามารถส่งข้อความให้ผู้กำหนดนโยบายเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดแทน

มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองอนุภาคเล็ก (PM 2.5) เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ด้วยขนาดที่เล็กมากทำให้สามารถผ่านระบบทางเดินหายใจสู่ปอดและเข้าสู่กระเลือดได้ง่าย เพิ่มโอกาสของโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ 

กรมควบคุมมลพิษของไทย ยังคงใช้ดัชนีคุณภาพอากาศที่กำหนดให้ ฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกิน 50 มก./ลบ.ม จะถือว่าอันตรายต่อสุขภาพ ในขณะที่ข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกอยู่ที่  25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดย “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ระบุว่า ให้มีการพิจารณาความเหมาะสมในการปรับค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงตามเป้าหมายระยะที่ 3 ของ WHO คือ ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร ภายในปี 2565 – 2567

อ้างอิง
https://www.weforum.org/agenda/2021/02/fossil-fuel-pollution-one-in-five-deaths-globally/
https://www.seas.harvard.edu/news/2021/02/deaths-fossil-fuel-emissions-higher-previously-thought
https://news.thaipbs.or.th/content/287270
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0013935121000487

Last Updated on กุมภาพันธ์ 15, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น