งานวิจัย Plasticenta: First evidence of microplastics in human placenta ตีพิมพ์ในวารสาร Environment International เมื่อเดือนมกราคม 2021 เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่ไมโครพลาสติกถูกพบในรกของทารกที่ยังอยู่ภายในครรภ์ของมารดา ซึ่งนักวิจัยได้กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก”
แม้เรายังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าไมโครพลาสติกจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทารกในครรภ์อย่างไร แต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าในไมโครพลาสติกนั้นอาจมีสารเคมีปนเปื้อนอื่นๆ ที่อาจเป็นอันตรายในระยะยาวหรือขัดขวางการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันของทารกในครรภ์ คาดการณ์ว่าอนุภาคไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายมารดาผ่านทางการบริโภคอาหารและน้ำ และผ่านระบบทางเดินหายใจ
ทั้งนี้พบอนุภาครวมทั้งหมด 12 ชิ้นในรกจากผู้หญิงที่มีสุขภาพดี 4 คนที่ตั้งครรภ์และคลอดตามปกติ (จากผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 6 คน) โดยไมโครพลาสติกถูกพบทั้งในรกของฝั่งตัวเด็ก และฝั่งของแม่ รวมถึงเยื่อหุ้มทารกเมื่อยังอยู่ในครรภ์ ทั้งนี้นักวิจัยได้ทำการศึกษาวิเคราะห์เพียง 4% ของแต่ละรกเท่านั้น คาดการณ์ว่าจำนวนไมโครพลาสติกทั้งหมดจะสูงกว่านี้มาก โดยอนุภาคที่พบเป็นพลาสติกที่ถูกย้อมสีน้ำเงิน แดง ส้มหรือชมพูและอาจมาจากบรรจุภัณฑ์สินค้า สี หรือเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายต่างๆ
ไมโครพลาสติกส่วนใหญ่มีขนาด 10 ไมครอน (0.01 มม.) ซึ่งหมายความว่ามีขนาดเล็กพอที่จะเข้าสู่กระแสเลือดได้ นอกจากจะอยู่ที่รกเท่านั้น อนุภาคเหล่านี้อาจเข้าสู่ร่างกายของทารกด้วย แต่นักวิจัยยังไม่สามารถประเมินเรื่องนี้ได้แน่ชัด
แม้จะยังไม่มีรายงานถึงผลกระทบด้านสุขภาพต่อร่างกายที่แน่ชัดจากไมโครพลาสติก แต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการประเมินปัญหานี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลที่จะเกิดต่อสุขภาพทารก ในเดือนตุลาคมปี 2020 มีรายงานวิจัยที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร Nature Food เปิดเผยว่าทารกรับไมโครพลาสติกเข้าร่างกายผ่านการกินนมในขวดพลาสติกหลายล้านชิ้นต่อวัน
ปัจจุบัน มีการพบไมโครพลาสติกทั่วทุกพื้นที่บนโลก ไม่ว่าจะเป็นยอดเขาเอเวอร์เรสต์ไปจนถึงส่วนที่ลึกที่สุดของมหาสมุทร เราได้รับพลาสติกเหล่านี้เข้าร่างกาผ่านทางการบริโภคอาหารและน้ำ และหายใจเข้าไป
Last Updated on กุมภาพันธ์ 16, 2021