ปัจจุบัน โรคหลอดเลือดแดงหัวใจแข็ง (Atherosclerotic Cardiovascular Diseases: ASCVD) พบบ่อยมากขึ้นในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวในสหรัฐฯ ขณะที่ยังไม่เคยมีการสำรวจแง่มุมการใช้สารเสพติดเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจว่ามีบทบาทหรือมีส่วนส่งผลก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ASCVD หรือไม่
การศึกษาวิจัย ‘การใช้สารเสพติดเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจในหมู่คนไข้ที่มีโรคหลอดเลือดแดงหัวใจแข็งก่อนวัยอันควร’ (Recreational substance use among patients with premature atherosclerotic cardiovascular disease) ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร ‘Heart’ ภายใต้ British Medical Journal เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ทำการศึกษาแบบสังเกต (observational study) จากฐานข้อมูลของ Veterans Affairs Healthcare และ Veterans with premaTure AtheroscLerosis (VITAL) ที่เก็บข้อมูลทั่วสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2557 – 2558 เพื่อสำรวจดูว่าการสูบบุหรี่ กัญชา แอลกอฮอล์ และยาเสพติดผิดกฎหมาย อาทิ แอมเฟตามีน (amphetamine) และโคเคนเพื่อประโยชน์ในการพักผ่อนหย่อนใจ มีส่วนเชื่อมโยงกับการเกิดโรคหัวใจ ASCVD ในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่ายังมีข้อจำกัดเรื่องข้อมูลปัจจัยอื่นที่อาจส่งผล อาทิ จำนวนโดสและระยะเวลาของการใช้สารเสพติด
ตามปกติแล้วโรคหัวใจ ASCVD เกิดขึ้นในผู้ชายที่อายุมากกว่า 55 ปี และผู้หญิงที่อายุมากกว่า 65 ปี ขณะที่การเกิดขึ้นในลักษณะ ‘ก่อนวัยอันควร’ (premature) เกิดขึ้นกับผู้ชายที่อายุต่ำกว่า 55 ปี และผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 65 ปี และในลักษณะ ‘ก่อนวัยอันควรมาก’ (extremely premature) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่าง ‘ฉับพลัน’ อาทิ หัวใจวาย stroke หรืออาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด (angina) ที่คนอายุต่ำกว่า 40 ปี โดยเมื่อทำการศึกษากลุ่มคนไข้ที่มีโรคหัวใจ ASCVD ทั้งสามลักษณะในแต่ละช่วงอายุแล้ว พบว่า ประเด็นการใช้สารเสพติดเพื่อพักผ่อนหย่อนใจมีส่วนเกี่ยวข้องกับความน่าจะเป็นของการเกิดโรคหัวใจชนิดดังกล่าวในกลุ่ม ‘ก่อนวัยอันควร’ (premature) และ ‘ก่อนวัยอันควรมาก’ (extremely premature)
คนที่มีโรคหัวใจ ASCVD ‘ก่อนวัยอันควร’ มักเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เสพโคเคน แอมเฟตามีน กัญชา รวมทั้งสารเสพติดอื่น โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ อย่างความดันโลหิตสูง เบาหวาน คลอเรสเตอรอลสูง พบว่าคนที่สูบบุหรี่มักมีความเสี่ยงมากกว่าเกือบ 2 เท่า คนดื่มแอลกอฮอล์เพื่อการสังสรรค์ที่ร้อยละ 50 คนที่ใช้โคเคนมีความเสี่ยงมากกว่าอยู่ที่ 2.5 เท่า คนที่ใช้แอมเฟตามีนมีความเสี่ยงเกือบ 3 เท่า และคนที่ใช้กัญชามีความเสี่ยงมากกว่า 2.5 เท่า ขณะที่คนที่ใช้ยาเสพติดประเภทอื่นมีความเสี่ยงประมาณ 2.5 เท่า เท่ากับว่ายิ่งมีการใช้สารเสพติดเพื่อความบันเทิงใจมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มความสุ่มเสี่ยงต่อการมีโรคหัวใจ ASCVD ‘ก่อนวัยอันควร’ มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจากข้อค้นพบชี้ว่า คนที่ใช้สารเสพติดประมาณ 4 ชนิดหรือมากกว่าอย่างเป็นประจำจะมีความเสี่ยงมากกว่า 9 เท่า เช่นเดียวกัน คนที่ใช้สารเสพติดมักจะมีความเสี่ยงที่ 1.5 ถึง 3 เท่าต่อการมีโรคหัวใจ ASCVD ‘ก่อนวัยอันควรมาก’ ที่ต่ำกว่า 40 ปี ทั้งนี้ โดยภาพรวมแล้วพบว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงทั้งสองลักษณะมากกว่าผู้ชาย
โดยทางทีมผู้วิจัยเน้นย้ำว่านอกเหนือไปจากเรื่องโรคหัวใจแล้ว การใช้สารเสพติดยังส่งผลด้านลบต่อสุขภาพอีกหลายด้าน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่ามีเด็กเยาวชนคนหนุ่มสาวจำนวน 1 ใน 5 ที่ใช้สารเสพติดหลากหลายชนิด และมีจำนวนหนึ่งที่หันมาใช้ ‘polysubstance’ ซึ่งยิ่งกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
การศึกษาชิ้นนี้มีความหวังอยากสร้างการเรียนรู้และตระหนักถึงความเสียหายจากการใช้สารเสพติดที่ไม่ใช่เพียงแค่ในกรณีของ ‘การใช้เกินขนาด’ เท่านั้น แต่มันสามารถเกิดขึ้นได้กับระบบหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่มีประวัติการใช้สารเสพติด ในแง่นี้จึงต้องการให้แพทย์ทำการตรวจเช็กประวัติของคนไข้ที่มีโรคหัวใจในเรื่องการใช้สารเสพติดด้วย – ซึ่งประเด็นการใช้สารเสพติดและแอลกอฮอล์ เกี่ยวข้องกับการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีตามเป้าหมายที่ 3 ของ SDGs
แหล่งที่มา:
https://medicalxpress.com/news/2021-02-drug-linked-premature-heart-disease.html
https://heart.bmj.com/content/early/2021/01/19/heartjnl-2020-318119
#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3
Last Updated on กุมภาพันธ์ 17, 2021