บริการสาธารณะ (public services) เผชิญกับความท้าทายเข้มข้นมากขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะมีประเด็นเกี่ยวกับการทุจริต การปลอมแปลง ข้อผิดพลาดทางเทคนิค ระบบขัดข้อง ฯลฯ ภาครัฐจึงเริ่มสำรวจศักยภาพของ AI กับการเปลี่ยนโฉมหน้าการบริการเพื่อสาธารณะ ความสำคัญจึงอยู่ที่การออกแบบระบบอย่างเฉพาะเจาะจงให้เหมาะสมกับข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อให้ดึงความสามารถของ AI ออกมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และเรียกได้ว่านำมาช่วยเหลือนักนโยบาย บรรดาเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientists) ได้อย่างแท้จริง
ขณะเดียวกัน ด้วยความที่ภาครัฐเป็นส่วนที่ครอบครองข้อมูลจำนวนมากหลากหลายประเภท ข้อควรระวังคือการพัฒนาระบบ AI จะต้องบรรจุ ‘กรอบศีลธรรม’ ให้เข้าใจประเด็นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและการรักษาระดับชั้นการตัดสินใจซึ่งเป็นระบบภายในของภาครัฐด้วย
และนี่คือ 7 ไอเดีย ที่สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้รวบรวมมาให้ภาครัฐได้พิจารณานำ AI ที่มีความสามารถในเรื่องการจัดการและประมวลผลข้อมูลมหาศาล มาช่วยจัดการบริการเพื่อสาธารณะ
- นำมาใช้ลดการฉ้อฉลและข้อผิดพลาดในระบบภาษี
- ตรวจจับการฉ้อโกงเงินให้เปล่า (grants) – ให้มั่นใจว่าเงินที่ให้ไปถูกใช้ตรงตามจุดประสงค์ที่แท้จริง
- ค้นหาข้อผิดพลาดในข้อมูลบัญชีการเงินที่เกี่ยวกับกิจการสาธารณะ ซึ่งมีการใช้จ่ายงบประมาณมหาศาล – AI จะช่วยการทำงานของกองการเงินและการคลัง และผู้ตรวจบัญชี
- ตรวจสอบกระบวนการให้บริการ – เมื่อบริการสาธารณะหันมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น AI ควรจะนำมาสำรวจทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวของประชาชนในบริการสาธารณะต่าง ๆ เช่น คนไปกระจุกตัวใช้บริการอะไร และทำไมระบบถึงล่ม เป็นต้น
- ทำให้การบริการเพื่อสาธารณะดำเนินการโดยอัตโนมัติ – เช่นว่าเปลี่ยนจาก Call center เพื่อให้บริการความช่วยเหลือแบบดั้งเดิม เป็น ‘chatbots’ หุ่นยนต์ไว้ตอบคำถาม ซึ่งจะช่วยให้การช่วยเหลือในระดับท้องถิ่นและส่วนกลางทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น
- คาดการณ์วิกฤติการสาธารณสุข – อย่างในกรณีของโควิด-19 คงจะดีมากถ้า AI สามารถคาดการณ์ความน่าจะเป็นของการเกิดโรคระบาดได้ หรือช่วยมนุษย์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมากขึ้น เป็นต้น
- กระจายทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ – AI ควรนำมาใช้ประมวลผลข้อมูลความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้สามารถกระจายทรัพยากรและความช่วยเหลือออกไปได้ครอบคลุมกับความต้องการมากที่สุด
ซึ่งประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับ SDGs เป้าหมายที่ 9 ซึ่งมีการกล่าวถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรมที่มีคุณภาพเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ และเป้าหมายที่ 16 ซึ่งมีการกล่าวถึงการพัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบและโปร่งใสในทุกระดับ
แหล่งที่มา: https://www.weforum.org/agenda/2021/01/ai-trust-public-services/
#SDGWatch #ihpp #SDG9 #SDG16
Last Updated on กุมภาพันธ์ 18, 2021