กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Funds) มูลค่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ของนอร์เวย์ ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกต้องการให้บริษัทที่กองทุนฯ เลือกไปลงทุนทั่วโลกเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในคณะกรรมการบริหาร และพิจารณากำหนดเป้าหมายด้านความหลากหลายทางเพศ หากมีคณะกรรมการเพศใดเพศหนึ่งน้อยกว่า 30%
กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศนอร์เวย์ เป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยกองทุนนี้ถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ราว 9,200 แห่งทั่วโลก โดยถือหุ้นคิดเป็น 1.5% ของหุ้นจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพท์ ได้กำหนดความก้าวหน้าของประเด็นต่างๆในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของบริษัทต่างๆ ที่นำเงินไปลงทุนไว้
Norges Bank Investment Management (NBIM) ซึ่งเป็นผู้บริหารกองทุนฯ ได้ประกาศจุดยืน (position paper) ต่อความหลากหลายทางเพศของคณะกรรมการบริหารบริษัท เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยต้องการให้บริษัทที่กองทุนถือหุ้น ที่มีตัวแทนเพศใดเพศหนึ่งต่ำกว่า 30% ในคณะกรรมการบริษัทพิจารณากำหนดเป้าหมายสำหรับความหลากหลายทางเพศและรายงานความก้าวหน้า
NBIM กล่าวว่าในขณะที่ผู้หญิงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการมากขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่โดยเฉลี่ยแล้ว มีเพียง 26% ของสมาชิกคณะกรรมการในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ G-7 ที่เป็นผู้หญิง ส่วนในยุโรปนั้น ข้อกำหนดด้านกฎระเบียบสำหรับการมีตัวแทนเป็นผู้หญิงจะแตกต่างกันไประหว่าง 30% -40%
กองทุนฯ ให้เหตุผลว่า การมีตัวแทนผู้หญิงน้อยเกินไป อาจเป็นสัญญาณว่ามีการสรรหาคณะกรรมการบริหารที่ “แคบเกินไป” และกังวลว่า บริษัทที่ขาดความหลากหลายทางเพศจะไม่สามารถรักษาความไว้วางใจจากลูกค้า นักลงทุน และสังคมในวงกว้างได้
สถาบันการลงทุนรายใหญ่อื่นๆ ส่วนใหญ่มีข้อกำหนดทั่วไปที่ต้องการให้บริษัทที่จะเลือกลงทุนนั้น มีความหลากหลายทางเพศในคณะกรรมการบริหาร และบางสถาบันฯ ก็พร้อมที่ยกเลิกการลงทุนหากพิจารณาแล้วว่าประเด็นนี้ในบริษัทดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่ต้องการ แต่ที่ผ่านมา สถาบันการลงทุนไม่ได้กำหนดเป้าหมายที่เป็นตัวเลขชัดเจนสำหรับสัดส่วนผู้หญิงในคณะกรรมการบริหาร
ในปี 2003 นอร์เวย์กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้ ‘สัดส่วนทางเพศ’ (gender quota) กำหนดให้บริษัทมหาชน จำกัด และบริษัทของรัฐเกือบ 500 แห่ง เพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในคณะกรรมการบริหารเป็นอย่างน้อย 40% โดยกำหนดเป็นกฎหมายในปี 2006
‘ประเด็นเรื่องการเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งผู้นำ อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน เป้าประสงค์ 5.5 สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล และมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณะ ‘
อ้างอิง
https://www.reuters.com/article/us-norway-swf-exclusive/exclusive-norway-wealth-fund-tells-firms-put-more-women-on-your-boards-idUSKBN2AF0TX
https://www.cnbc.com/2021/02/16/norways-sovereign-wealth-fund-tells-firms-to-put-more-women-on-boards.html
https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—ed_dialogue/—act_emp/documents/briefingnote/wcms_754631.pdf