SDG Updates | Immunization Agenda 2030 กับ SDGs ความเชื่อมโยงของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคกับเป้าหมายกับพัฒนาที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมมากไปกว่าเรื่องสุขภาพ

“โลกที่ทุกคน ทุกที่ ทุกวัยได้รับประโยชน์จากวัคซีนเพื่อการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี”

การสร้างภูมิคุ้มกันโรค (Immunization) เป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่สามารถรักษาชีวิตคนไว้มากมายในแต่ละปี ทั้งการป้องกันโรคที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตมากกว่า 20 โรค โดยการฉีดวัคซีนให้กับทารกเกิดใหม่มากกว่า 116 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 86 ของทั้งหมดในทุกปี รวมถึงการคิดค้น ศึกษา และพัฒนาวัคซีนอย่างต่อเนื่องพื่อตอบสนองต่อโรคที่อาจไม่เคยจำเป็นต้องมีวัคซีนมาก่อนและโรคอุบัติใหม่ตามบริบทความต้องการและความจำเป็นของแต่ละประเทศ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก อหิวาตกโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบ วัณโรค ไวรัสไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย ไข้เลือดออก อีโบลา รวมไปถึงว่ามีความพยายามคิดค้นนวัตกรรมไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือดิจิทัล  เทคนิคที่ไม่จำเป็นต้องใช้เข็มฉีดยา การจัดการห่วงโซ่อุปทานและการเก็บรักษาวัคซีน เพื่อช่วยให้มีการบริหารจัดการและบริการแจกจ่ายวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่ดีขึ้น จนสามารถครอบคลุมคนทุกเพศ ทุกสภาพความเป็นอยู่ ทุกที่ และทุกช่วงวัย พร้อมเสริมพลังด้วยการมีโครงการระดับประเทศในการติดตามและพัฒนาผลการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ท่ามกลางสถานการณ์ของโลกกับการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ณ ขณะนี้ SDG Move ชวนคุณผู้อ่านทำความรู้จัก “วาระการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ปี 2573” (Immunization Agenda 2030) กับความสำคัญที่ไม่เพียงเฉพาะในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 3 โดยตรงเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ SDGs ในทางอ้อมอีก 13 เป้าหมายสำคัญด้วย

รู้ไว้ใช่ว่าเรื่อง ‘การสร้างภูมิคุ้มกันโรค’ และ ‘การฉีดวัคซีน’

01 รักษาชีวิตคนและปกป้องสุขภาพ

  • ลดจำนวนการเสียชีวิตจากโรคติดต่อเป็นอย่างมาก โดยในช่วงปี 2553 – 2560 อัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลดลงถึงร้อยละ 24
  • เป็นประโยชน์ครอบคลุมคนทุกช่วงวัย และทุกกลุ่มทุกพื้นที่
  • ป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อสู่ชุมชน
  • ป้องกันความพิการที่สามารถส่งผลต่อการเติบโตและพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก
  • ประชาชนจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคสูงขึ้นหากไม่ได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ทั้งนี้คาดว่าวัคซีนจะสามารถช่วยให้คนประมาณ 24 ล้านคนทั่วโลกไม่ตกอยู่ในภาวะความยากจนจากค่ารักษาพยาบาลภายในปี 2573

02 สนับสนุนให้ประเทศมีผลิตภาพ (productivity) และภูมิคุ้มกันต้านทานกับการเปลี่ยนแปลง (resilience) ที่ดีขึ้น

  • วัคซีนช่วยป้องกันโรค ทำให้ประชากรมีสุขภาพดีทั้งนี้ ทรัพยากรมนุษย์ที่มีสุขภาพดีเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาและความมั่นคั่งของประเทศ
  •  ชุมชมที่ได้รับการฉีดวัคซีนจะมีภูมิต้านทานสามารถป้องกันและตอบสนองต่อผลกระทบด้านลบจากโรคระบาดได้ โดยเฉพาะโรคระบาดที่เกิดขึ้นเป็นประจำตามฤดูกาลที่กระทบทั้งระบบสุขภาพและบริการอื่น อาทิ การเดินทางท่องเที่ยว การค้า

03 ช่วยให้โลกปลอดภัยขึ้น สุขภาพดีขึ้น และมั่งคั่งขึ้น

ความสามารถในการตรวจจับ ป้องกัน และตอบสนองต่อโรคติดต่ออย่างศักยภาพของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน ทั้งการพัฒนายาปฏิชีวนะ (antibiotics) และยาต้านจุลชีพ (antimicrobials) รวมทั้งการสอดส่องโรค (disease surveillance) เป็นศักยภาพที่สำคัญตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations) ปี 2548 ที่ส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงสุขภาพโลก (Global Health Security) ทำให้ระบบสุขภาพมีภูมิต้านทานและยั่งยืน พร้อมตอบสนองต่อโรคระบาด ความเสี่ยงต่อการสาธารณสุข และภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ในโลกยุคใหม่ที่เชื้อโรคไม่ได้ถูกจำกัดพื้นที่และพรมแดนแต่ได้เดินทางไปพร้อมกับคนที่ไปมาหาสู่กันในท้องถิ่น ข้ามพรมแดนนานาชาติ ประชากรที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในเมืองที่ขยายตัวขึ้น ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นตัวเร่งให้เผชิญกับโรคอุบัติใหม่และโรคที่เกิดขึ้นเป็นประจำตามฤดูกาลมากขึ้น

  • นอกจากการผลิตวัคซีนแล้ว การบริหารจัดการกำจัดของเสียจากวัคซีนอย่างปลอดภัยยังสำคัญต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนโดยตรง เพราะสื่อถึงคุณภาพของการให้บริการสุขภาพ พร้อมกับลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ
  • วัคซีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนาในอีกหลายมิติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งต้องร่วมลงมือทำไปพร้อมกันนอกเหนือไปจากเรื่องสุขภาพ ให้โลกปลอดภัยขึ้นและมั่งคั่งขึ้นจากฐานของการที่ประชากรมีสุขภาพดีขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าวัคซีนจะมีความสำคัญในฐานะที่เป็นเครื่องมือป้องกันโรคและไม่ให้โรคกลับมาเป็นภัยต่อร่างกายอีกครั้ง รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการจำกัดการแพร่ระบาด ควบคุมโรคติดต่อและโรคติดต่ออุบัติใหม่ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบบสุขภาพทว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนยังคงมีความท้าทายอยู่บางประการ โดยเฉพาะความครอบคลุมและความเท่าเทียมของการเข้าถึงวัคซีน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำเนินงานตามตัวชี้วัดความสำเร็จของการมีระบบสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care) และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) ที่เข้มแข็ง


วัคซีนกับคำถามที่ควรพิจารณา

  • ประชากรทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงวัคซีนได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล คนยากจน คนชายขอบ คนที่เปราะบาง ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ผู้พลัดถิ่น คนที่อยู่ในสภาพหรือได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง คนที่อยู่ในภาวะการเมืองไร้เสถียรภาพหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ
  • ยังมีช่องโหว่ของระบบสุขภาพหรือไม่ มีคนกลุ่มใดหรือช่วงอายุใดบ้างที่รับวัคซีนจำกัดหรือต่ำกว่าภูมิคุ้มกันหรือยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลย (zero dose – ไม่มีภูมิคุ้มกัน)  
  • ปริมาณวัคซีนมีเพียงพอในการจ่ายแจกและเหลือเก็บในคลังหรือไม่ มีคุณภาพและมีราคาถูกเข้าถึงได้หรือไม่
  • ประชาชนมีความเข้าใจเรื่องความสำคัญของการฉีดวัคซีนหรือไม่

เรียนรู้จากองค์ความรู้ ความท้าทาย และบทเรียนจากยุทธศาสตร์เดิม สู่ยุทธศาสตร์ใหม่
สู่ปี 2573 กับ วาระการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ปี 2573

วาระการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ปี 2573 ถอดบทเรียนจาก ทศวรรษแห่งวัคซีน ช่วงระหว่างปี 2554 2563 ที่มียุทธศาสตร์ ‘Global Vaccine Action Plan (GVAP)’ มุ่งเน้นให้โลกมีเป้าหมายใหม่ในการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ขจัดและยุติโรคระบาด และสามารถจัดการโรคเฉพาะได้ (Disease-specific Initiative)อย่างโรคโปลิโอ หัด หัดเยอรมัน บาดทะยัก และฝีดาษ โดยวาระการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเป็นวิสัยทัศน์และกรอบยุทธศาสตร์ระดับโลกระยะยาวที่ “ยืดหยุ่น” ด้วยหวังแนะแนวทางกับภูมิภาคและประเทศเพื่อลงมือปฏิบัติให้สอดคล้องกับทั้งบริบทโลกในช่วงสิบปีและเงื่อนไขทรัพยากรภายในประเทศ ก่อเกิดเป็นเจตจำนงทางการเมืองในระดับสูงที่ให้ “การสร้างภูมิคุ้มกันโรค” เป็นความสำคัญลำดับต้น พร้อมย้ำความสำคัญของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่นอกเหนือไปจากวงการสุขภาพ โดยความแตกต่างของวาระนี้จากยุทธศาสตร์เดิม มีดังนี้

  • เป็นการออกแบบจากล่างขึ้นบน (bottom-up) ให้ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่นและกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด
  • ปรับตัวกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปหรือความท้าทายใหม่ในโลก
  • มุ่งลดความไม่เท่าเทียมภายในประเทศและระหว่างประเทศ
  • คำนึงถึงประเด็นเรื่องเพศในการให้บริการสร้างภูมิคุ้มกันโรค
  • มุ่งมั่นทำให้ระบบสุขภาพมีความเข้มแข็ง ทั้งระบบสาธารณสุขมูลฐานและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
  • ให้การสร้างภูมิคุ้มกันโรคเป็นการคุ้มครองตลอดช่วงชีวิต
  • สนับสนุนการใช้นวัตกรรม
  • ใช้ทรัพยากรในโครงการสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นและยั่งยืนขึ้น โดยคำนึงถึงระบบสาธาณสุขมูลฐาน ความมุ่งมั่นทางการเมือง การได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และความเป็นหุ้นส่วนที่มากไปกว่าวงการสุขภาพ

โดยมีหลักการสำคัญ 4 ข้อ คือ 1) คนเป็นศูนย์กลาง 2) นำโดยแต่ละประเทศสะท้อนบริบทของท้องถิ่นเอง 3) ลงมือทำร่วมกันของหุ้นส่วนความร่วมมือที่หลากหลายเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด และ 4) ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ให้การตัดสินใจมาจากข้อมูลที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับจุดประสงค์ (‘fit-for-purpose’)ซึ่งหลักการทั้ง 4 ข้อนี้จะปรากฏในสาระสำคัญของ ‘7 ยุทธศาสตร์และความสำคัญอันดับต้น (strategic priorities)’ ของวาระดังกล่าว ที่มีการกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ประเด็นสำคัญที่ให้ความสนใจ ตัวชี้วัด และวิธีการในการติดตามความคืบหน้าและการประเมินผล ซึ่งจะช่วยเติมเต็มเป้าหมายของการป้องกันแต่ละโรคเฉพาะทาง เป้าหมายด้านสุขภาพโดยทั่วไป และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสามารถจัดแต่ละยุทธศาสตร์เข้ากับหมวดหมู่ ความตั้งใจ’ ได้ดังนี้

#1ทำให้มั่นใจว่าการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุขมูลฐานที่จะช่วยสนับสนุนให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้

  • ยุทธศาสตร์ข้อที่ 1 : โครงการสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับสาธารณสุขมูลฐานและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Immunization Programmes for Primary Health Care and Universal Health Coverage)

#2การสร้างภูมิคุ้มกันโรคสำคัญต่อความต้องการของประชาชนและการบริการสาธารณสุขขับเคลื่อนด้วยความต้องการของปัจเจกบุคคลและชุมชน

  • ยุทธศาสตร์ข้อที่ 2 : ความมุ่งมั่นและความต้องการ (Commitment & Demand)

#3 – สร้างหลักประกันการบริการสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยคำนึงถึงการเติบโตของประชากร ความเป็นเมือง การอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน การเคลื่อนย้ายข้ามชายแดน และการพลัดถิ่นของประชากร ความขัดแย้ง การไร้เสถียรภาพทางการเมือง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนปลงสภาพภูมิอากาศ

  • ยุทธศาสตร์ข้อที่ 3 : การคุ้มครองที่ครอบคลุมและความเสมอภาค (Coverage & Equity)
  • ยุทธศาสตร์ข้อที่ 4 : คุณภาพคนในทุกช่วงวัยและการบูรณาการ (Life Course & Integration)
  • ยุทธศาสตร์ข้อที่ 5 : โรคระบาดและภาวะฉุกเฉิน (Outbreaks & Emergencies)

#4 การสนับสนุนให้มีการลงทุนในวัคซีนต่อไปและการใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยการดำเนินการ เป็นความจำเป็นต่อการต่อสู้กับโรคและส่งเสริมให้การสร้างภูมิคุ้มกันโรคประสบผลสำเร็จ

  • ยุทธศาสตร์ข้อที่ 6 : อุปทานและความยั่งยืน (Supply & Sustainability)
  • ยุทธศาสตร์ข้อที่ 7 : การวิจัยและนวัตกรรม (Research & Innovation)

และในท้ายที่สุดนี้ จากความตั้งใจของวาระการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ปี 2573 และความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมิติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 14 เป้าหมายจากทั้งหมด 17 เป้าหมาย ดังนี้

  • #SDG1 – การสร้างภูมิคุ้มกันโรคมีบทบาทสำคัญในการขจัดความยากจน โดยการลดค่ารักษาพยาบาลและการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ในระยะยาวโดยการหลีกเลี่ยงการสูญเสียอันเป็นผลมาจากความพิการและการตาย
  • #SDG2 – การสร้างภูมิคุ้มกันโรคและโภชนาการเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน คนที่อยู่ในภาวะทุพโภชนาการโดยเฉพาะวัยเด็ก มักจะเสียชีวิตจากโรคติดต่ออย่างท้องร่วง หัด และปอดบวม
  • #SDG3 – การฉีดวัดซีนเป็นหนึ่งในวิธีการที่มีความคุ้มทุนในการรักษาชีวิตและรณรงค์ให้เกิดการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี
  • #SDG4 – การสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มจำนวนการสำเร็จการศึกษา (educational attainment)เพราะทำให้พัฒนาการทางสติปัญญา (cognitive development) ในระยะยาวดีขึ้นเด็กที่ได้รับภูมิคุ้มกันมักสามารถเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนได้นานกว่าและทำคะแนนการทดสอบทางปัญญาได้ดีกว่าคนที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
  • #SDG5 – การยกเลิกอุปสรรคในการเข้าถึงการฉีดวัคซีนที่เกี่ยวข้องกับเพศภาวะ (gender) ส่งเสริมทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ อย่างที่ได้มีการสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข
  • #SDG6 – เมื่อการฉีดวัคซีนเติมเต็มประเด็นการมีน้ำสะอาด สุขาภิบาลและสุขอนามัย มันจึงเป็นการป้องกันโรคท้องร่วง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการตายในเด็กในประเทศที่มีรายได้ต่ำ
  • #SDG7 – การขนส่งเพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้เทคนิคในการขนส่งที่สะอาดขึ้นและยั่งยืนขึ้น ซึ่งมาจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และแหล่งพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น
  • #SDG8 – การสร้างภูมิคุ้มกันโรคช่วยส่งเสริมกำลังแรงงานที่มีสุขภาพดีและมีประสิทธิภาพ ที่เป็นส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจ
  • #SDG9 – การผลิตวัคซีนมีส่วนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมแห่งชาติในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง
  • #SDG10 การสร้างภูมิคุ้มกันโรคเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ที่จะกระทบกับกลุ่มที่ถูกเบียดขับให้เป็นชายขอบมากที่สุด (the most marginalized groups) โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ในเมืองหรือชนบทที่ห่างไกล รวมถึงในพื้นที่ความขัดแย้ง
  • #SDG11 – การสร้างภูมิคุ้มกันโรคปกป้องการสาธารณสุข (Public Health) ในเมือง และหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรค เป็นหลักประกันของการมีเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
  • #SDG13 – การสร้างภูมิคุ้นกันโรคมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดความเสี่ยงและการสร้างภูมิคุ้มกันของประชาชน (people’s resilience)ต่อโรคระบาดที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ไข้เหลือง มาลาเรีย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และอหิวาตกโรค
  • #SDG16 – การมีระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และมีคนเป็นศูนย์กลาง เป็นสันหลังของสถาบันทางสังคม และการฉีดวัคซีนมักเป็นจุดที่เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชากรกับระบบสุขภาพอยู่เสมอ
  • #SDG17 – โครงการการสร้างภูมิคุ้มกันโรคช่วยขยายความเป็นหุ้นส่วนและวิธีการข้ามสาขาที่หลากหลาย เป็นหลักประกันให้ประชาสังคม ชุมชน และภาคเอกชนเข้ามาทำงานด้วยกันเพื่อเป้าหมายร่วมกัน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
SDG Updates | “Good Health and Well-being: เมื่อนิยามของสุขภาพดี’ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ร่างกายแข็งแรง”

แปลสรุปและเรียบเรียงจาก:
https://www.who.int/teams/immunization-vaccines-and-biologicals/strategies/ia2030

#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3 และ #SDG1 #SDG2 #SDG4 #SDG5 #SDG6 #SDG7 #SDG8 #SDG9 #SDG10 #SDG11 #SDG13 #SDG16 #SDG17

Last Updated on กุมภาพันธ์ 23, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น