Site icon SDG Move

SDG Updates | Immunization Agenda 2030 กับ SDGs ความเชื่อมโยงของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคกับเป้าหมายกับพัฒนาที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมมากไปกว่าเรื่องสุขภาพ

“โลกที่ทุกคน ทุกที่ ทุกวัยได้รับประโยชน์จากวัคซีนเพื่อการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี”

การสร้างภูมิคุ้มกันโรค (Immunization) เป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่สามารถรักษาชีวิตคนไว้มากมายในแต่ละปี ทั้งการป้องกันโรคที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตมากกว่า 20 โรค โดยการฉีดวัคซีนให้กับทารกเกิดใหม่มากกว่า 116 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 86 ของทั้งหมดในทุกปี รวมถึงการคิดค้น ศึกษา และพัฒนาวัคซีนอย่างต่อเนื่องพื่อตอบสนองต่อโรคที่อาจไม่เคยจำเป็นต้องมีวัคซีนมาก่อนและโรคอุบัติใหม่ตามบริบทความต้องการและความจำเป็นของแต่ละประเทศ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก อหิวาตกโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบ วัณโรค ไวรัสไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย ไข้เลือดออก อีโบลา รวมไปถึงว่ามีความพยายามคิดค้นนวัตกรรมไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือดิจิทัล  เทคนิคที่ไม่จำเป็นต้องใช้เข็มฉีดยา การจัดการห่วงโซ่อุปทานและการเก็บรักษาวัคซีน เพื่อช่วยให้มีการบริหารจัดการและบริการแจกจ่ายวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่ดีขึ้น จนสามารถครอบคลุมคนทุกเพศ ทุกสภาพความเป็นอยู่ ทุกที่ และทุกช่วงวัย พร้อมเสริมพลังด้วยการมีโครงการระดับประเทศในการติดตามและพัฒนาผลการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ท่ามกลางสถานการณ์ของโลกกับการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ณ ขณะนี้ SDG Move ชวนคุณผู้อ่านทำความรู้จัก “วาระการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ปี 2573” (Immunization Agenda 2030) กับความสำคัญที่ไม่เพียงเฉพาะในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 3 โดยตรงเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ SDGs ในทางอ้อมอีก 13 เป้าหมายสำคัญด้วย

รู้ไว้ใช่ว่าเรื่อง ‘การสร้างภูมิคุ้มกันโรค’ และ ‘การฉีดวัคซีน’

01 รักษาชีวิตคนและปกป้องสุขภาพ

  • ลดจำนวนการเสียชีวิตจากโรคติดต่อเป็นอย่างมาก โดยในช่วงปี 2553 – 2560 อัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลดลงถึงร้อยละ 24
  • เป็นประโยชน์ครอบคลุมคนทุกช่วงวัย และทุกกลุ่มทุกพื้นที่
  • ป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อสู่ชุมชน
  • ป้องกันความพิการที่สามารถส่งผลต่อการเติบโตและพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก
  • ประชาชนจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคสูงขึ้นหากไม่ได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ทั้งนี้คาดว่าวัคซีนจะสามารถช่วยให้คนประมาณ 24 ล้านคนทั่วโลกไม่ตกอยู่ในภาวะความยากจนจากค่ารักษาพยาบาลภายในปี 2573

02 สนับสนุนให้ประเทศมีผลิตภาพ (productivity) และภูมิคุ้มกันต้านทานกับการเปลี่ยนแปลง (resilience) ที่ดีขึ้น

  • วัคซีนช่วยป้องกันโรค ทำให้ประชากรมีสุขภาพดีทั้งนี้ ทรัพยากรมนุษย์ที่มีสุขภาพดีเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาและความมั่นคั่งของประเทศ
  •  ชุมชมที่ได้รับการฉีดวัคซีนจะมีภูมิต้านทานสามารถป้องกันและตอบสนองต่อผลกระทบด้านลบจากโรคระบาดได้ โดยเฉพาะโรคระบาดที่เกิดขึ้นเป็นประจำตามฤดูกาลที่กระทบทั้งระบบสุขภาพและบริการอื่น อาทิ การเดินทางท่องเที่ยว การค้า

03 ช่วยให้โลกปลอดภัยขึ้น สุขภาพดีขึ้น และมั่งคั่งขึ้น

ความสามารถในการตรวจจับ ป้องกัน และตอบสนองต่อโรคติดต่ออย่างศักยภาพของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน ทั้งการพัฒนายาปฏิชีวนะ (antibiotics) และยาต้านจุลชีพ (antimicrobials) รวมทั้งการสอดส่องโรค (disease surveillance) เป็นศักยภาพที่สำคัญตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations) ปี 2548 ที่ส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงสุขภาพโลก (Global Health Security) ทำให้ระบบสุขภาพมีภูมิต้านทานและยั่งยืน พร้อมตอบสนองต่อโรคระบาด ความเสี่ยงต่อการสาธารณสุข และภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ในโลกยุคใหม่ที่เชื้อโรคไม่ได้ถูกจำกัดพื้นที่และพรมแดนแต่ได้เดินทางไปพร้อมกับคนที่ไปมาหาสู่กันในท้องถิ่น ข้ามพรมแดนนานาชาติ ประชากรที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในเมืองที่ขยายตัวขึ้น ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นตัวเร่งให้เผชิญกับโรคอุบัติใหม่และโรคที่เกิดขึ้นเป็นประจำตามฤดูกาลมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าวัคซีนจะมีความสำคัญในฐานะที่เป็นเครื่องมือป้องกันโรคและไม่ให้โรคกลับมาเป็นภัยต่อร่างกายอีกครั้ง รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการจำกัดการแพร่ระบาด ควบคุมโรคติดต่อและโรคติดต่ออุบัติใหม่ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบบสุขภาพทว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนยังคงมีความท้าทายอยู่บางประการ โดยเฉพาะความครอบคลุมและความเท่าเทียมของการเข้าถึงวัคซีน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำเนินงานตามตัวชี้วัดความสำเร็จของการมีระบบสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care) และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) ที่เข้มแข็ง


วัคซีนกับคำถามที่ควรพิจารณา


เรียนรู้จากองค์ความรู้ ความท้าทาย และบทเรียนจากยุทธศาสตร์เดิม สู่ยุทธศาสตร์ใหม่
สู่ปี 2573 กับ วาระการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ปี 2573

วาระการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ปี 2573 ถอดบทเรียนจาก ทศวรรษแห่งวัคซีน ช่วงระหว่างปี 2554 2563 ที่มียุทธศาสตร์ ‘Global Vaccine Action Plan (GVAP)’ มุ่งเน้นให้โลกมีเป้าหมายใหม่ในการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ขจัดและยุติโรคระบาด และสามารถจัดการโรคเฉพาะได้ (Disease-specific Initiative)อย่างโรคโปลิโอ หัด หัดเยอรมัน บาดทะยัก และฝีดาษ โดยวาระการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเป็นวิสัยทัศน์และกรอบยุทธศาสตร์ระดับโลกระยะยาวที่ “ยืดหยุ่น” ด้วยหวังแนะแนวทางกับภูมิภาคและประเทศเพื่อลงมือปฏิบัติให้สอดคล้องกับทั้งบริบทโลกในช่วงสิบปีและเงื่อนไขทรัพยากรภายในประเทศ ก่อเกิดเป็นเจตจำนงทางการเมืองในระดับสูงที่ให้ “การสร้างภูมิคุ้มกันโรค” เป็นความสำคัญลำดับต้น พร้อมย้ำความสำคัญของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่นอกเหนือไปจากวงการสุขภาพ โดยความแตกต่างของวาระนี้จากยุทธศาสตร์เดิม มีดังนี้

โดยมีหลักการสำคัญ 4 ข้อ คือ 1) คนเป็นศูนย์กลาง 2) นำโดยแต่ละประเทศสะท้อนบริบทของท้องถิ่นเอง 3) ลงมือทำร่วมกันของหุ้นส่วนความร่วมมือที่หลากหลายเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด และ 4) ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ให้การตัดสินใจมาจากข้อมูลที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับจุดประสงค์ (‘fit-for-purpose’)ซึ่งหลักการทั้ง 4 ข้อนี้จะปรากฏในสาระสำคัญของ ‘7 ยุทธศาสตร์และความสำคัญอันดับต้น (strategic priorities)’ ของวาระดังกล่าว ที่มีการกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ประเด็นสำคัญที่ให้ความสนใจ ตัวชี้วัด และวิธีการในการติดตามความคืบหน้าและการประเมินผล ซึ่งจะช่วยเติมเต็มเป้าหมายของการป้องกันแต่ละโรคเฉพาะทาง เป้าหมายด้านสุขภาพโดยทั่วไป และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสามารถจัดแต่ละยุทธศาสตร์เข้ากับหมวดหมู่ ความตั้งใจ’ ได้ดังนี้

#1ทำให้มั่นใจว่าการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุขมูลฐานที่จะช่วยสนับสนุนให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้

#2การสร้างภูมิคุ้มกันโรคสำคัญต่อความต้องการของประชาชนและการบริการสาธารณสุขขับเคลื่อนด้วยความต้องการของปัจเจกบุคคลและชุมชน

#3 – สร้างหลักประกันการบริการสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยคำนึงถึงการเติบโตของประชากร ความเป็นเมือง การอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน การเคลื่อนย้ายข้ามชายแดน และการพลัดถิ่นของประชากร ความขัดแย้ง การไร้เสถียรภาพทางการเมือง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนปลงสภาพภูมิอากาศ

#4 การสนับสนุนให้มีการลงทุนในวัคซีนต่อไปและการใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยการดำเนินการ เป็นความจำเป็นต่อการต่อสู้กับโรคและส่งเสริมให้การสร้างภูมิคุ้มกันโรคประสบผลสำเร็จ

และในท้ายที่สุดนี้ จากความตั้งใจของวาระการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ปี 2573 และความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมิติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 14 เป้าหมายจากทั้งหมด 17 เป้าหมาย ดังนี้

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
SDG Updates | “Good Health and Well-being: เมื่อนิยามของสุขภาพดี’ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ร่างกายแข็งแรง”

แปลสรุปและเรียบเรียงจาก:
https://www.who.int/teams/immunization-vaccines-and-biologicals/strategies/ia2030

#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3 และ #SDG1 #SDG2 #SDG4 #SDG5 #SDG6 #SDG7 #SDG8 #SDG9 #SDG10 #SDG11 #SDG13 #SDG16 #SDG17

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version