มาเลเซียมุ่งผันตัวจากแหล่งทิ้งขยะของประเทศพัฒนาแล้ว เป็นผู้นำประเทศกำลังพัฒนาด้าน ‘ขยะเป็นศูนย์’ ด้วยหลักความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (EPR)

เรื่อยมาตั้งแต่ช่วงปี 2561 ที่จีนปฏิเสธการนำเข้าขยะเพื่อรีไซเคิล ทำให้การถ่ายโอนขยะจากประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อ ‘ทิ้ง’ หรือรีไซเคิล มุ่งหน้ามายังแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยสหราชอาณาจักรได้ส่งขยะพลาสติกที่จำนวนประมาณ 63% หรือประมาณ 537,000 ตัน มายังมาเลเซียติดต่อกันช่วงปี 2561 – 2562 ทำให้มาเลเซียกลายเป็นแหล่งรองรับขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล

ขยะพลาสติกเหล่านั้น แม้จะมีความพยายามส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง หรือบริษัทเอกชนของมาเลเซียจะได้รับการอนุญาตให้นำเข้ามาได้ ทว่าในระยะแรก แทนที่จะมีการรีไซเคิลกลับพบว่ามีการรีไซเคิลน้อยกว่า 10% ระบบการรีไซเคิลยังคงเป็นแบบดั้งเดิม และขยะส่วนใหญ่มักถูกจัดการด้วยวิธีฝังกลบ (landfills) ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกทอดหนึ่ง อาทิ มลพิษทางอากาศและมลพิษทางน้ำในแม่น้ำและมหาสมุทร พร้อมกับที่เกิดกระบวนการรีไซเคิลขยะแบบผิดกฎหมายตามมาที่ทำให้เมื่อปี 2562 มาเลเซียต้องเร่งจัดการกับกิจการดังกล่าวด้วย

ถึงกระนั้น ทางการของมาเลเซียมองว่า การนำเข้าก็ดีหรือการเป็นแหล่งทิ้งขยะก็ดี สามารถจัดการได้ด้วยการปฏิเสธหรือไม่อนุญาตให้นำเข้า ส่วนที่สำคัญมากไม่แพ้กันคือการบริโภคภายในประเทศที่มีการใช้พลาสติกประเภทครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastics) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมการกินแบบซื้อกลับบ้าน ทำให้มีขยะพลาสติกจำนวนมาก อาทิ จากจำพวกถุงและซองพลาสติก โฟมใส่อาหาร แพ็กเกจสินค้าทำจากพลาสติกที่ห่อสินค้าทุกประเภทขนาดเล็กใหญ่

ทางการมาเลเซียจึงมีความตั้งใจผันประเทศไม่ให้เป็นที่ทิ้งขยะพลาสติกจากประเทศพัฒนาแล้ว พร้อมกับปรับวิธีคิดและวัฒนธรรมในการจัดการขยะพลาสติกจากสินค้าประเภทต่าง ๆ ภายในประเทศ มุ่งหน้าเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีขยะเป็นศูนย์ (“net zero waste nation’’) โดยใช้ ‘หลักความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต’ (Extended Producer Responsibility – EPR) แทนที่วิธีการจัดการขยะแบบดั้งเดิมที่อาจไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ขยะในปัจจุบัน พร้อมกับสนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy)

โดยให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้ามีความรับผิดต่อผลิตภัณฑ์ตลอดวงจรการใช้งาน (end-of-life) แทนที่จะเป็น ผู้ผลิต -> ผู้บริโภค -> ฝังกลบ -> เผาขยะในเตาเผา (incineration) หรือ ‘ทิ้ง’ นั่นทำให้บริษัทหรือแบรนด์สินค้าต้องหันมาทบทวนการใช้ทรัพยากร กระบวนการเก็บขยะ ระบบการแยกขยะ และการออกแบบโครงสร้างรวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้หรือให้นำกลับมาใช้ซ้ำ (reuse) ไปจนถึงเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ขณะที่ภาครัฐจะหันมาใช้นวัตกรรม การเก็บภาษี การช่วยเหลือสนับสนุนทางการเงิน รวมทั้งการออกกฎระเบียบและกฎหมายที่จะอำนวยบรรดาธุรกิจขนาดเล็กและปานกลาง บริษัทและบรรษัทข้ามชาติ ให้สามารถร่วมกันเปลี่ยนโฉมหน้าการจัดการขยะดังกล่าวได้สำเร็จ

โดยการจัดการขยะของมาเลเซียในปัจจุบัน มีการออกข้อตกลงพลาสติกของมาเลเซีย (Malaysia Plastic Pact) ซึ่งเป็นพื้นที่การหารือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่หลากหลายตลอดห่วงโซ่วงจรพลาสติก โดยมีการทำงานอย่างบูรณาการระหว่างกระทรวงของมาเลเซีย อาทิ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำ กระทรวงการเคหะและการปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนงานการวางแผนเศรษฐกิจของมาเลเซีย ซึ่งมีนโยบายและแผนอื่นที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะแผนมาเลเซียฉบับที่ 12 (2564 – 2568) อันเป็นหมุดหมายสำคัญของวาระการพัฒนาประเทศมาเลเซีย

‘ประเด็นการจัดการขยะ เกี่ยวข้องกับ #SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งมีส่วนหนึ่งกล่าวถึงการกำหนดให้มีกรอบการปฏิบัติงาน การจัดการขยะทุกชนิดด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการลดการเกิดขยะด้วยการป้องกัน การลด การรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ซ้ำ’

ศึกษา EPR เพิ่มเติมที่:

“หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility)” เครื่องมือในการจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6134/277

แหล่งที่มา:

https://www.eco-business.com/opinion/waste-not-want-not-malaysia-moves-to-become-a-leader-in-tackling-plastic-waste/

#SDGWatch #ihpp #SDG12

Last Updated on กุมภาพันธ์ 22, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น