ภาพ cover photo จาก www.vogue.com
‘Health disparities ความเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุข – health equity ความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางสุขภาพ กล่าวคือ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีความแตกต่างด้านสังคมในประเด็นใดก็ตาม จะต้องไม่ถูกยกเว้นในการเข้าถึงโอกาสการรับบริการด้านสุขภาพ’
ตั้งแต่สมัยเรียนเรื่อยมาจนเป็นรองศาสตราจารย์ด้านอายุรศาสตร์ การสาธารณสุขและการจัดการที่มหาวิทยาลัยเยล Dr. Marcella Nunez-Smith แพทย์ระบาดวิทยาซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าทีมเฉพาะกิจด้านความเสมอภาคทางสุขภาพในยุคโควิด-19 ประจำทำเนียบขาวของสหรัฐฯ (Director of the White House’s Covid-19 Health Equity Task Force) มีความสนใจด้านการส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion) ความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มประชากรชายขอบ (marginalized) และความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ในระบบการบริการสาธารณสุข ซึ่งเธอมองว่าเป็นประเด็นสังคม ‘เชิงโครงสร้าง’
ด้วยเหตุนั้น ประกอบกับความมุ่งมั่นของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ต้องการให้ ‘ความเสมอภาคทางเชื้อชาติ’ เป็นแก่นกลางความสำคัญอันดับต้นในการตอบสนองวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ เธอจึงได้รับเลือกให้ทำหน้าที่สำคัญ ปรับปรุงระบบการให้บริการสุขภาพที่ยังมี ‘ช่องโหว่’ ให้ทุกคน ทุกเชื้อชาติและชุมชนในสหรัฐฯ อาทิ คนไร้บ้าน นักโทษ คนที่อยู่ห่างไกลตามชนบท รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติที่มีจำนวนมากและสำคัญต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายใน ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับบริการในช่วงโควิด-19 (underserved populations) ตลอดจนชุมชนชาวผิวสี ผิวดำและผิวน้ำตาลทั้งหลายที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงอย่างไม่สมสัดส่วนเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับชาวผิวขาว ให้สามารถมีโอกาสและเข้าถึงบริการได้อย่างเสมอภาค พร้อมกันนี้ เธอได้ให้ความสำคัญกับมิติเศรษฐกิจและสุขภาพจิตด้วย
แม้ข้อมูลสถิติการฉีดวัคซีนที่ผ่านมาอาจยังไม่สมบูรณ์ หรือมีการชี้เป็นนัยเบื้องต้นถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับการฉีดวัคซีนอันเป็นผลมาจากความแตกต่างทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ อาทิ ชาวผิวดำซึ่งมีมากกว่า 13% ในสหรัฐฯ กลับมีเพียง 5.4% ที่ได้รับวัคซีน อย่างไรก็ดี ทีมของเธอมองว่า ‘ตัวเลข’ ย่อมแสดงให้เห็นภาพสะท้อนของระบบ ‘ความไม่เสมอภาค’ ที่เป็นอยู่ และ ‘ข้อมูลที่แม่นยำและน่าเชื่อถือ’ จะเป็นกุญแจสำคัญเพื่อปรับปรุงระบบและกระจายทรัพยากรให้เกิดความเสมอภาคขึ้นได้ และข้อมูลที่ควรนำมาใช้ประมวลผลและออกแบบรูปแบบการให้บริการที่เหมาะสม มีอาทิ เชื้อชาติ พื้นที่และรหัสไปรษณีย์เพื่อระบุถิ่นที่อยู่ทางภูมิศาสตร์ มลพิษทางอากาศ โภชนาการ การเคหะ และความต้องการพื้นฐานอื่น ซึ่งจะช่วยชี้และแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้
นอกเหนือจากข้อมูลที่มีความแม่นยำและน่าเชื่อถือแล้ว ‘ความโปร่งใส’ และการแถลงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา ตลอดจนความเข้าใจในมิติวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่สำคัญจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ประชาชนและชุมชนทุกสีผิวมี ‘ความมั่นใจ’ ในการบริหารจัดการภาครัฐและระบบสุขภาพอีกครั้ง
‘#SDG3 การสร้างหลักประกันว่าด้วยคนมีชีวิตที่มีสุขภาพและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย และ #SDG10 การลดความไม่เสมอภาค ซึ่งสำหรับภายในประเทศมีแง่มุมของความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติ พันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ เพื่อสร้างหลักประกันของโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาค’
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
อ่านข่าวจากสหรัฐฯ กับประเด็นการเก็บข้อมูล วางแผนกลุ่มประชากรเพื่อรับวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคสำหรับทุกเชื้อชาติ
แหล่งที่มา:
https://www.nbcnews.com/news/nbcblk/dr-marcella-nunez-smith-prioritizing-health-equity-white-house-n1258391
https://www.nytimes.com/2021/02/11/us/politics/race-inequities-coronavirus.html
https://www.ajmc.com/view/dr-marcella-nunez-smith-accurate-data-are-needed-to-improve-health-disparities
#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3 #SDG10
Last Updated on กุมภาพันธ์ 23, 2021