องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ได้ทำการศึกษา ‘แรงงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม’ (digital labour platforms) มาตั้งแต่ปี 2558 และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ได้เผยแพร่รายงาน ‘World Employment and Social Outlook 2021’ สำรวจแรงงานที่ทำงานทางเว็บไซต์ (online web-based) และพื้นที่ทางกายภาพ (location-based) กว่า 12,000 จาก 85 บริษัททั่วโลกในหลายส่วนธุรกิจ วิเคราะห์ผลของแรงงานกลุ่มนี้ที่มีต่อรูปแบบการจ้างงาน องค์กร แรงงาน และสังคม รวมถึงประเด็นทางกฎหมาย ให้งานในอนาคต (future work) นี้เป็นงานที่ดีสำหรับทุกคน
เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ ‘แรงงานชั่วคราว’ (gig workers) เป็นที่นิยมและเติบโตขึ้นทั่วโลกกว่า 5 เท่า อย่างบริการ Uber, Gojek, หรือ Online Delivery ประเภทอื่น ซึ่งการรับงานแต่ละครั้ง (task-based) สร้างงานได้อย่างมหาศาลต่างไปจากและท้าทายต่อรูปแบบธุรกิจเดิม เป็นทั้งงานหลักและงานเสริมด้วยมีลักษณะที่ยืดหยุ่น เลือกรับงานได้อย่างอิสระ ทำงานเวลาไหนเมื่อไรก็ได้ และที่สำคัญเป็นการเปิดรับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกระดับการศึกษาและทักษะ และทุกช่วงอายุให้เข้ามาทำงาน
ทว่ายังมีความท้าทายที่สัดส่วนผู้ชายในบางพื้นที่ยังมากกว่าผู้หญิง งานอาจจำกัดในพื้นที่เมืองและชานเมือง งานมีไม่พอสำหรับทุกคน รายได้มีความผันผวน การแข่งขันที่เป็นธรรม สิทธิแรงงานสากลและกฎหมายคุ้มครองแรงงานอาจไม่ครอบคลุมแรงงานกลุ่มนี้ทำให้สูญเสีย ‘อำนวจต่อรอง’ กับเงื่อนไขการทำงานของแพลตฟอร์มที่กระทำฝ่ายเดียว การคุ้มครองทางสังคมจำกัด ความสมดุลของจำนวนชั่วโมงทำงาน รวมถึงอัลกอรีทึ่มของดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ลดความเป็นอิสระของแรงงาน ความโปร่งใสของข้อมูลและราคา ค่าคอมมิชชั่นสูง ไปจนถึงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคระบาดมากที่สุดเพราะไม่สามารถหยุดงานได้ หรือไม่มีสิทธิหยุดงานและลาป่วยแบบยังได้รายได้
ILO เสนอว่าต้องตระหนักถึงประเด็นความท้าทายดังกล่าว โดยเฉพาะในแง่มุมกฎหมายแรงงาน กฎหมายและนโยบายอื่นภายในประเทศที่เกี่ยวกับ ’งานที่ดี’ สำหรับแรงงาน gig รวมทั้งความร่วมมือและการพูดคุยเชิงนโยบายระหว่างประเทศ เพื่อให้มีการใช้กฎหมายที่เป็นมาตรฐานสากลครอบคลุมแรงงานประเภทนี้
ปัจจุบัน มีการเคลื่อนไหวประเด็นแรงงาน gig ในหลายประเทศ อาทิ รัฐบาลอังกฤษกำหนดให้ Uber ต้องปฏิบัติกับคนขับรถในสังกัดตนเป็น ‘แรงงาน’ ที่สามารถเข้าถึงสิทธิการลาพักร้อน การลา และค่าจ้างขั้นต่ำ รัฐบาลสเปนกำลังพิจารณากฎหมายแรงงานที่จะทำให้แพลตฟอร์มบริการส่งอาหารจ้างแรงงานที่ทำงานส่งของอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกัน ช่วงปลายปี 2563 คนขับ GrabBike ในเวียดนามเคลื่อนไหวต่อต้านการขึ้นค่าคอมมิชชั่น สมาคมคนขับวินมอเตอร์ไซต์ที่เรียกว่า Garda Nasional ในอินโดนีเซีย พร้อมประท้วงหากมีการควบกิจการ Grab และ Gojek ที่เป็นการค้านความยินยอมและอาจส่งผลให้เสียงานจำนวนมาก ในจีน มีคนขับรถส่งอาหารประท้วงด้วยการเผาตัวเอง เพราะไม่ได้รับค่าจ้างจาก Ele.me บริษัทภายใต้เครือ Alibaba และสำหรับไทย กลุ่มแรงงานดังกล่าวถือเป็น ‘แรงงานนอกระบบ’ ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอด้านสิทธิและสวัสดิการแรงงาน กล่าวคือ กฎหมายแรงงานของไทยยังไม่ครอบคลุมแรงงาน gig
‘#SDG8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่ดีสำหรับทุกคน’
เข้าถึงรายงานได้ที่:
https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—dgreports/—dcomm/—publ/documents/publication/wcms_771749.pdf
แหล่งที่มา:
https://www.ilo.org/global/research/global-reports/weso/2021/WCMS_771749/lang–en/index.htm
https://ilo.org/infostories/Campaigns/WESO/World-Employment-Social-Outlook-Report-2021#digitzed-workforce
https://www.ilo.org/global/about-the-ilo/newsroom/news/WCMS_771909/lang–en/index.htm
https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-02-23/ilo-wants-better-regulation-to-help-gig-econAlgos Replacing Humans Fuels ILO Call for Gig Economy Regulation
https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2072935/do-gig-workers-deserve-better-deal-
#SDGWatch #ihpp #SDG8
Last Updated on กุมภาพันธ์ 25, 2021