SDG Updates | Telemedicine – การลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข เพื่อไม่ทิ้งคนไข้ไว้ข้างหลัง

การพัฒนา Telehealth และ Telemedicine เป็นหนึ่งในบริการไม่กี่ประเภทที่เติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลกในปี 2020 ที่ผ่านมา โดยมีการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่ง เพื่อลดโอกาสในการสัมผัสเชื้อไวรัสจากความแออัดในสถานพยาบาลในช่วงเวลานี้ ทำให้ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยหลายอย่างที่ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลในทันทีชะลอการเดินทางไปพบแพทย์ แต่ผู้ป่วยจำนวนมากไม่อาจหยุดการไปพบแพทย์ได้โดยสิ้นเชิง เป็นเหตุให้โรงพยาบาลเปิดให้บริการ “Telemedicine” หรือ การแพทย์ทางไกล เพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม

ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) นั้น คำว่า ‘การแพทย์ทางไกล’ หรือ ‘Telemedicine’ หมายถึง การจัดให้มีบริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลจากบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค รวมถึงการศึกษาวิจัย และเพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษาต่อเนื่องของบุคลากรทางการแพทย์ และตัวอย่างของ telemedicine คือ การส่งภาพถ่ายทางการแพทย์ในรูปแบบดิจิทัล การประเมินผลและการวินิจฉัยโรคทางไกล และการปรึกษาทางวิดีโอกับแพทย์เฉพาะทาง จะเห็นได้ว่า telemedicine นั้นเหมือนการไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาล เพียงแต่ทำจากที่ไหนในโลกก็ได้

เมื่อพูดถึง telemedicine เรามักจะพบคำศัพท์อีกคำ คือ telehealth ซึ่งหมายถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศระยะไกลเพื่อบริการผู้ป่วยเช่นกัน แต่สำหรับ telehealth นั้นจะมีขอบเขตการบริการด้านสุขภาพที่กว้างกว่า telemedicine โดยสามารถหมายถึงบริการที่ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรคได้ด้วย เช่น การให้ความรู้ด้านสุขภาพ การส่งใบสั่งยาไปยังร้านขายยา การตรวจสอบสัญญาณชีพหรือคามดันโลหิตจากระยะไกล

ประเภทการให้บริการของ telemedicine

การดูแลเบื้องต้นและการส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญ – แพทย์สามารถให้คำปรึกษาหรือวินิจฉัยสุขภาพเบื้องต้น ซึ่งอาจใช้การพูดคุยและสอบถามอาการผู้ป่วยแบบโต้ตอบสดผ่านวิดีโอประกอบการวินิจฉัย หรือข้อมูลด้านสุขภาพ เช่น สัญญาณชีพ ภาพถ่ายประกอบข้อมูลจากการบอกเล่าของผู้ป่วยด้วย

การเฝ้าระวังผู้ป่วยจากทางไกล – โดยการนำอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพต่างๆ ติดตั้งไว้ที่บ้านหรือตัวผู้ป่วย ข้อมูลไปยังผู้ให้บริการเพื่อแปลผล ถ้าข้อมูลสัญญาณชีพที่ส่งไปมีความผิดปกติ ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้ติดต่อแพทย์ หรือสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบการวินิจฉัยเมื่อพบแพทย์โดยตรง 

การให้ข้อมูลด้านสุขภาพและทางการแพทย์ – บริการที่ผู้ใช้สามารถรับข้อมูลด้านสุขภาพผ่านระบบอินเตอร์เน็ตหรืออุปกรณ์ไร้สายต่างๆ หรือสามารถเข้าร่วมกลุ่มสนทนาออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือประสบการณ์ผู้ใช้ที่มีประสบการณ์ร่วมกัน (peer to peer support) 

การศึกษาทางการแพทย์ – เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ความรู้ให้กับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจากพื้นที่ต่างๆ ให้พื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนหรือสัมมนาทางการแพทย์เพื่อเพิ่มพูนความรู้อย่างต่อเนื่อง


เพิ่มการเข้าถึง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย เป้าประสงค์ 3.8 บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้”

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ”

มนุษย์ทุกคนต้องการมีสุขภาพดี เพราะการมีสุขภาพที่ดีนั้นเป็นต้นทุนเพื่อสร้างศักยภาพด้านอื่นๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ในขณะเดียวกันปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ต่างกันก็นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพได้ ปัจจัยเหล่านี้ประกอบด้วย ฐานะทางเศรษฐกิจ เพศสภาพ อายุ ระดับการศึกษา ภาวะความพิการ ถิ่นที่อยู่ เป็นต้น

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ปี 2554 พบว่า ไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 2,000 คน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2560 มีจำนวนผู้สูงอายุเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากกว่า 3,500 คน หรือตัวเลขอัตราการตายมารดาไทยต่อการเกิดมีชีพแสนคน ในเขตสุขภาพที่ 12 (สตูล ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ในปีงบประมาณ 2561 สูงที่สุดในประเทศ เหล่านี้คือตัวอย่างสถานการณ์ที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มเปราะบางมีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูงกว่า อันเนื่องมาจากอายุและถิ่นที่อยู่

รายงานข้อมูลบุคลากรด้านสาธารณสุข ประจำปี 2562 โดยกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในปี 2562 ทั่วประเทศมีแพทย์ทั้งหมด 39,156 คน (ทั้งสังกัดรัฐและเอกชน) เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 66 ล้านคน สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรจะเท่ากับ 1 ต่อ 1,674 คน แต่จำนวนแพทย์ต่อประชากรไม่ได้กระจายตัวเท่ากันในทุกพื้นที่ ตัวอย่างเช่น ในกรุงเทพมหานคร มีแพทย์ทั้งหมด 9,839 คน คิดเป็นสัดส่วน 1 แพทย์ ต่อ 565 คน ในขณะที่ จ.หนองบัวลำภู ซึ่งมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรคือ 1 ต่อ 4,740 คน และนอกจากนั้นยังมีอีกหลายจังหวัดที่มีแพทย์น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเมื่อเทียบสัดส่วนแพทย์เฉพาะทางต่อประชากร ก็จะพบว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ กระจุกตัวเฉพาะเมืองใหญ่ ดังนั้นเพื่อให้ได้รับบริการทางการแพทย์จากแพทย์เฉพาะทาง ผู้ป่วยจะต้องเดินทางมายังโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ นั่นทำให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลเสียโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพและเหมาะสม เพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเดินทางได้ ในขณะที่กลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงและสามารถมีที่พักอาศัยในเขตเมือง ใกล้โรงพยาบาลใหญ่ ก็จะมีโอกาสเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพได้สะดวกกว่า

Health Equity หรือความเสมอภาค ความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการเข้ารับบริการทางสุขภาพ หมายถึงการที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างกันในด้านสังคม ชนชั้น เชื้อชาติ สถานะทางเศรษฐกิจ หรือถิ่นที่อยู่อาศัย สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพโดยปราศจากความแตกต่างที่หลีกเลี่ยงได้หรือลดความเหลื่อมล้ำได้ อีกทั้งหมายรวมถึงการปราศจากซึ่งการขัดต่อความยุติธรรมและสิทธิพึงได้ส่วนบุคคล

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป (ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข, 2562)

ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ ระบบ telemedicine จึงถูกพัฒนาขึ้นโดยคำนึงถึงหลักประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อปิดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกัน โดยสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงโอกาสในการรักษาที่พยาบาลที่มีคุณภาพเท่ากับทุกคน ปัจจุบันทั่วโลกใช้บริการ telemedicine เพื่อให้ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย ผู้ต้องขัง สามารถพบแพทย์ได้จากที่พักอาศัย ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเมื่อมารับบริการที่สถานพยาบาล ลดภาระการรักษา ลดค่าใช้จ่ายทั้งภาครัฐและของประชาชน ลดความแออัดของสถานที่ให้บริการ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงประหยัดเวลา

Policy Brief ในหัวข้อ Health and Reduced Inequalities จาก สำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป เสนอประเด็นว่า สังคมที่มีความเสมอภาคมีแนวโน้มที่จะเป็นสังคมที่คนมีสุขภาพดีกว่า ประชากรในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงมักจะมีอายุคาดเฉลี่ยต่ำกว่า มีอัตราการเสียชีวิตของทารกที่สูงกว่า รวมถึงมีความชุกของอาการเจ็บป่วยทางจิตใจและโรคอ้วนที่มากกว่าด้วย รายได้และความเหลื่อมล้ำในสังคมส่งผลต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพของบุคคลตลอดทั้งชีวิต ผ่านหลายเหตุปัจจัย ทาง เช่น ความเครียดทางอารมณ์และจากสภาพสังคม (psychosocial stress) หรือพฤติกรรมสุขภาพไม่พึงประสงค์จากการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเหลื่อมล้ำนั้นยังรวมไปถึงการไม่สามารถเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ไม่มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ต้องเผชิญมลพิษทางอากาศ ไม่สามารถเข้าถึงโภชนาการที่ดี ไม่มีโอกาสในการจ้างงาน ขาดการพักผ่อน ขาดพื้นที่สีเขียวที่ปลอดภัยสำหรับฟื้นฟูสุขภาพใจ

การลดความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ การศึกษา การบริการด้านสุขภาพ และการมีอำนาจในการตัดสินกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศ อันเป็นปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพ เพื่อให้บุคคลมีสถานะทางสังคมที่ดีขึ้น จะสามารถนำพาเราไปสู่การบรรลุเป้าหมายเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนได้


ลดการเดินทาง ลดใช้กระดาษ ลดคาร์บอน

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น”

เมื่อผู้ป่วยเข้าถึงแพทย์ได้ง่ายขึ้นผ่านระบบ telemedicine ทำให้จำนวนการเดินทางเพื่อมาสถานพยาบาลลดลง หาก telemedicine กลายเป็นที่นิยมมากขึ้นและมีสัดส่วนของการเปลี่ยนมาพบแพทย์ทางออนไลน์ที่สูงขึ้น นี่อาจเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่สามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากมลพิษในชั้นบรรยากาศที่ปล่อยออกมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงยานยนต์ได้ 

นอกจากนั้นการส่งต่อข้อมูลด้านสุขภาพผ่านระบบดิจิทัล ด้วย เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Medical Records)จะช่วยลดการใช้กระดาษที่ไม่จำเป็นได้ จากการประมาณการของ Kaiser Permanente ซึ่งเป็นบริษัทประกันสุขภาพของสหรัฐอเมริกา พบว่า 70% ของการใช้กระดาษในโรงพยาบาลมาจากบันทึกผู้ป่วยนอก และ 30% มาจากบันทึกผู้ป่วยใน หากทดแทนปริมาณการใช้กระดาษทั้งหมดนี้ด้วยเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 21,000 ตัน หรือเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกกักเก็บไว้ในป่าสนขนาดใหญ่กว่า 4,000 เอเคอร์


โอกาสที่อาจขยายช่องว่างทางดิจิทัลให้กว้างขึ้น

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม”

ถึงแม้ระบบ telemedicine จะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่สะดวก คุ้มค่าและมีคุณภาพและครอบคลุมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความก้าวทางเทคโนโลยีนี้อาจยิ่งทำให้เห็นช่องว่างทางดิจิทัลของคนในประเทศเด่นชัดยิ่งขึ้น

ช่องว่างทางดิจิทัล หรือ ‘digital divide’ นั้นมีความหมายโดยคร่าวถึง ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงเทคโนโลยี อันเกิดจากความไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลหรืออินเตอร์เน็ตที่มีคุณภาพ ในราคาที่จ่ายได้ หรือจากระดับความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เป็นต้น

จากการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2561 พบว่า ร้อยละของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป ที่ใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน และอินเตอร์เน็ตในกรุงเทพมหานคร สูงกว่าภาคอื่น อยู่ที่ 85.3% และ 77.5% ตามลำดับ ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนที่ต่ำกว่าทุกภาคอยู่ 59.9% สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟน และ 46.2% สำหรับผู้ใช้อินเตอร์เน็ต

ความพยายามลดช่องว่างด้านดิจิทัลในระดับชุมชนหรือหมู่บ้านที่รัฐทำผลงานได้ดี คือ โครงการเน็ตประชารัฐและโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเตอร์เน็ต ความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ ที่สามารถตอบโจทย์ด้านความครอบคลุมเชิงพื้นที่ได้ นอกจากนั้น ภาครัฐควรพิจารณาความช่วยเหลือในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและให้ความสำคัญกับ อัตราค่าบริการอินเตอร์เน็ตที่ลดลง เป็นธรรม มีแพ็กเกจสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการ และทำให้โทรศัพท์มือถือมีราคาถูกลง ไม่เช่นนั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและการเป็นเจ้าของมือถือสมาร์ตโฟนอาจกลายเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคมปัจจัยใหม่ก็เป็นได้


ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขยังคงเป็นปัญหาที่ไม่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ต้องเผชิญ แต่เกิดขึ้นกับอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ในสถานการณ์ที่ระบบสุขภาพถูกท้าทายด้วยวิกฤตครั้งใหญ่เช่นนี้ เราจะได้เห็นความพยายามของบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทุ่มกำลังเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากขึ้นภายใต้เวลาที่จำกัด การพัฒนาระบบ telemedicine ให้ทำงานได้อย่างเต็มที่ ไปพร้อมกับปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ทุกคน ในทุกพื้นที่ได้มีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน จะเป็นหลักประกันว่าเราจะสามารถสร้างสังคมที่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเพื่อพร้อมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งต่อไปได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง .


อ่านเพิ่มเติม

แหล่งข้อมูล

Last Updated on เมษายน 27, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น