Site icon SDG Move

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำฟาร์มทั่วโลก คุกคามความพยายามลดโลกร้อนตามความตกลงปารีส

งานวิจัย Global and regional drivers of land-use emissions in 1961–2017 ตีพิมพ์บน Nature แสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ (รวมถึง ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และก๊าซมีเธน)​ โดยละเอียดตั้งแต่ปี 1961 ถึง 2017 คำนึงถึงการปล่อยมลพิษจากกิจกรรมทางการเกษตรและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เช่น การเปลี่ยนพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่ฟาร์มเป็นหลัก โดยทำการประมาณและแสดงข้อมูลการปล่อยการก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ที่ดินทั่วโลก 229 พื้นที่ และจากผลผลิตทางการเกษตร 169 รายการ

จากผลการศึกษาพบว่าประเทศที่ยากจนกว่าในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา (sub-Saharan Africa) มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัดที่สุด

ส่วนในทวีปเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ในระดับน้อยกว่า แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางภาคเกษตรมีปริมาณสูงขึ้น เนื่องจากต้องเพิ่มกำลังการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของประชากร

ทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และโอเชียเนีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยกว่า มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่เป็นลบ แต่อย่างไรก็ตาม มลพิษที่เกิดขึ้นจำนวนมากยังคงมีสาเหตุมาจากการทำฟาร์ม

นักวิจัยเสนอแนวทางการจัดการด้านภาคเกษตรและการใช้ที่ดินเพื่อสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ เช่น การเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้ดีขึ้น จะช่วยลดการแผ้วถางป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งดักเก็บคาร์บอนชั้นดี การเปลี่ยนมาใช้วิธีไถพรวนและเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับปรุงการการจัดการดินและของเสียจากปศุสัตว์ รวมถึงการลดขยะอาหาร หรือเทคโนโลยีการเพาะปลูกข้าวแบบใหม่ที่สร้างก๊าซมีเธนน้อยกว่า

นอกจากนั้นยังเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อบริโภคแทนเนื้อวัว เพราะจากการศึกษาพบว่า เนื้อแดงให้พลังงานเพียง 1% ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลก แต่การใช้ที่ดินเพื่อทำปศุสัตว์เป็นต้นทางของก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซฯ ที่ปล่อยจากการใช้ที่ดินทั้งหมดในโลก ดังนั้นการเปลี่ยนแนวทางการบริโภคจึงมีความสำคัญต่อการลดก๊าซเรือนกระจก

ทวีปยุโรปมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ที่ดินต่ำที่สุด อยู่ที่ 0.5 ต่อคนต่อปี แต่ตัวเลขในภูมิภาคอื่นสูงขึ้นอย่างมาก และเมื่อพิจารณาถึงจำนวนประชากรโลกที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เกษตรกรและผู้กำหนดนโนบายต้องร่วมมือกันหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อโลก

นักวิจัยยังให้ความเห็นว่า แม้เราจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกให้อยู่ระดับเดียวยุโรป แต่เมื่อคำนวณกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ที่ดินจะอยู่ที่ 5 กิกะตันต่อปี ในปี 2100 เท่านั้น ซึ่งยังเป็นปริมาณที่สูงเกินกว่าจะทำให้เราบรรลุความตกลงปารีสได้ เว้นแต่ว่าจะถูกชดเชยด้วยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดึงออกจากชั้นบรรยากาศ

ความตกลงปารีส (Paris Agreement) คือความพยายามครั้งใหญ่ของมนุษยชาติในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายที่ท้าทายคือ

จากข้อมูลของ World Meteorological Organization พบว่า อุณหูมิเฉลี่ยโลกของปี 2020 สูงขึ้นจากยุคก่อนอุตสาหกรรม ถึง 1.2 องศาเซลเซียสแล้ว

อ้างอิง
https://www.futurity.org/farming-greenhouse-gas-emissions-paris-agreement-2509082-2/

การใช้ที่ดินทำการเกษตร เพื่อผลิตอาหาร และก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เชื่อมโยงกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป้าประสงค์ 2.4 สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดาเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่นๆ และจะช่วยพัฒนาคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี 2030, เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าประสงต์ที่ 12.3  ลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภคและลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2030, เป้าหมายที่ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น และเป้าหมายที่ 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป้าประสงค์ที่ 15.1 สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและพื้นที่แห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2030

Author

Exit mobile version