สถานการณ์โควิด-19 เผยให้เห็นความจำเป็นของการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบ (resilience) ต้านทานความเสียหายและความท้าทายต่อระบบสาธารณสุข กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ ‘ตัวเรา’ ทำให้เราหวนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมิตร สอดประสานความยั่งยืนในทุกด้านให้เกิดขึ้นทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
SDG Move ชวนผู้อ่านสำรวจดัชนี้วัดผลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2563 (Environmental Performance Index: EPI) ในหลากมิติ กับสถานะความยั่งยืนของประเทศ 180 ประเทศ ว่ามีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมใดบ้างที่ส่งเสริมให้โลกมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืน มีประเด็นใดที่สามารถเรียนรู้ได้จากกลุ่มประเทศที่มีบทบาทนำและอยู่ในอันดับต้นของโลก ตลอดจน EPI ในฐานะ ‘เครื่องมือทางนโยบาย’ จะสนับสนุนให้เกิดการลงมือทำเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร
ดัชนี้วัดผลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2563 (Environmental Performance Index: EPI) หรือ ‘ตัวชี้วัดความยั่งยืน’ โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเยลและมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เป็นการจัดเก็บข้อมูลและข้อเท็จจริงพร้อมพัฒนาตัวชี้วัดผสม (composition index) สำหรับการประเมินประสิทธิผลของการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมใน 180 ประเทศทั่วโลก 8 ภูมิภาค ซึ่งจะมีการอัปเดทผลลัพธ์ EPI ทุก 2 ปี ชี้แจง 2 ด้านความมุ่งหมาย (policy objectives) อันประกอบไปด้วย 32 ตัวชี้วัดและ 11 ประเด็นปัญหา (categories) แสดงให้เห็นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในหลากมิติที่ส่งเสริมและบ่งชี้ว่าประเทศใดบ้างในโลก ณ ปัจจุบันที่มุ่งหน้าสู่ ‘ความยั่งยืน’ โดยเฉพาะที่สะท้อน ‘นโยบายของประเทศที่มีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม’ ได้อย่างก้าวหน้ามากที่สุด
สุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Health – EH) 4 ประเด็นปัญหา ได้แก่ คุณภาพอากาศ (PM 2.5, เชื้อเพลิงที่ใช้ในบ้าน, โอโซน) สุขาภิบาลและน้ำดื่ม ตะกั่วในสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะของเสีย (ขยะมูลฝอย)
ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ (Ecosystem Vitality – EV) 7 ประเด็นปัญหา ได้แก่ ความหลากหลายทางชีวภาพและถิ่นที่อยู่ (บนบกและมหาสมุทร) ระบบนิเวศ (ต้นไม้ ทุ่งหญ้า พื้นที่ชุ่มน้ำ) การประมง (น้ำจืดและน้ำเค็ม) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยมลพิษ การเกษตร และแหล่งน้ำ
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานและข้อมูล
● รายงานจะเผยแพร่ทุก 2 ปี และในปีที่เป็นเลขคู่ ซึ่งปีต่อไปคือปี 2565 (2022)
● ข้อมูลที่นำมาใช้พัฒนา EPI มาจากองค์การระหว่างประเทศ สถาบันการวิจัยและภาคการศึกษาเป็นหลัก
●ไม่ควรนำคะแนนในแต่ละปีมาเปรียบเทียบกัน เนื่องจากแต่ละครั้งมีการศึกษาด้วยระเบียบวิธีวิจัย ตัวชี้วัด และข้อมูลที่ต่างกันไปที่ทันสมัยที่สุดสำหรับเวลานั้น
● ความท้าทายของ EPI อยู่ที่การวัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่กระจายหรือส่งผลต่อมิติข้ามสาขา
อันดับของประเทศใน 8 ภูมิภาคเป็นอย่างไร ?
เมื่อมาสำรวจดูการจัดอันดับโลก อันดับใน 8 ภูมิภาค และคะแนนแล้ว พบว่า
*หมายเหตุ:
(อันดับโลก, อันดับในภูมิภาค, คะแนน EPI, คะแนนสุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อม EHS,
คะแนนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ EVS)
01 ภาพรวม
20 อันดับแรกของโลก (คะแนนอยู่ในช่วง 82.5 – 71.0) ส่วนใหญ่ทั้งหมดกระจุกที่ประเทศโลกตะวันตก (ยุโรปตะวันตก 16 ประเทศ) และมีเพียง 3 ประเทศนอกกลุ่มที่ติดอันดับ ได้แก่ ญี่ปุ่น (12, 1 ของเอเชียแปซิฟิก, 75.1) สโลวีเนีย (18,1 ของยุโรปตะวันออก, 72.0) และสาธารณรัฐเช็ก (20, 2 ของยุโรปตะวันออก, 71.0)
02 อันดับโลก อันดับภูมิภาค และคะแนนของ 3 ประเทศมหาอำนาจเป็นอย่างไร ?
สหรัฐฯ (24, 21 ของประเทศโลกตะวันตก, 69.3) ดูเพิ่มเติมที่: สหรัฐฯ
รัสเซีย (58, 3 ของอดีตรัฐในสหภาพโซเวียต, 50.5) ดูเพิ่มเติมที่: รัสเซีย
จีน (120, 12 ของเอเชียแปซิฟิก, 37.3) ดูเพิ่มเติมที่: จีน
03 กลุ่มประเทศ/ภูมิภาค
● ประเทศโลกตะวันตก – เป็นกลุ่ม 23 ประเทศ ที่กระจุกตัวในช่วง 30 อันดับแรกของโลก โดย 10 อันดับแรกของโลกเป็นประเทศในยุโรปตะวันตกและสแกนดิเนเวียร์ ที่เดนมาร์กอันดับ 1 ของโลกและของกลุ่มด้วยคะแนน 82.5 ขณะที่มีประเทศอื่นซึ่งไม่ได้อยู่ใน ‘พื้นที่ทางภูมิศาสตร์’ เดียวกัน ได้แก่ ออสเตรเลีย (13, 12, 74.9) นิวซีแลนด์ (19, 17, 71.3) สหรัฐฯ (24, 21, 69.3) รวมทั้งแคนาดา (20, 18, 71.0 ซึ่งได้คะแนนและอันดับโลกเท่ากันกับสาธารณรัฐเช็กและอิตาลี)
10 อันดับแรกของโลกและอันดับแรกของประเทศโลกตะวันตก (Global West)
เป็นประเทศในยุโรปตะวันตกและสแกนดิเนเวียร์
1. เดนมาร์ก 82.5 | 6. ออสเตรีย 79.6 |
2. ลักเซมเบิร์ก 82.3 | 7. ฟินแลนด์ 78.9 |
3. สวิสเซอร์แลนด์ 81.5 | 8. สวีเดน 78.7 |
4. สหราชอาณาจักร 81.3 | 9. นอร์เวย์ 77.7 |
5. ฝรั่งเศส 80.0 | 10. เยอรมัน 77.2 |
● ยุโรปตะวันออก – มี 19 ประเทศที่ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในช่วงอันดับโลกที่ 18 – 45 (คะแนนอยู่ในช่วง 72.00-55.2) โดยประเทศสามอันดับแรกในภูมิภาค ได้แก่ สโลวีเนีย สาธารณรัฐเช็ก และกรีซ
● อดีตรัฐในสหภาพโซเวียต – โดยประเทศสามอันดับแรกในภูมิภาค ได้แก่ เบลารุส (49,1 53.0) อาเมเนีย (53, 2, 52.3) และรัสเซีย (58, 3, 50.5)
● เอเชียแปซิฟิก – เป็นกลุ่มที่อันดับโลกและคะแนนกระจายกันมากโดยประเทศสามอันดับแรกในภูมิภาค ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ (28, 2, 66.5) และสิงคโปร์ (39, 3, 58.1) โดยประเทศในอาเซียนมีอันดับ ดังนี้
ประเทศในอาเซียน 10 ประเทศกับอันดับโลกและคะแนน
1. สิงคโปร์ (39, 58.1, EHS 40.2, EVS 85.0) | 6. อินโดนีเซีย (116, 37.8, EHS 43.7, EVS 29.0) |
2. บรูไนฯ (46, 54.8, EHS 42.0, EVS 74.0) | 7. ลาว (130, 34.8, EHS 39.9, EVS 27.2) |
3. มาเลเซีย (47, 47.9, EHS 42.9, EVS 55.4) | 8. กัมพูชา (139, 33.6, EHS 35.6, EVS 30.5) |
4. ไทย (78, 45.4 ซึ่งอันดับโลกและคะแนนเท่ากับ บอสเนียเฮอเซโกวีนา และเลบานอน, EHS 43.5, EVS 48.4) | 9. เวียดนาม (141, 33.4, EHS 28.5, EVS 46.0) |
5. ฟิลิปปินส์ (111, 38.4, EHS 41.1, EVS 34.1) | 10. เมียนมาร์ (179, 25.1, EHS 25.4, EVS 24.6) |
● ตะวันออกกลาง – โดยประเทศสามอันดับแรกในภูมิภาค ได้แก่ อิสราเอล (29,1, 65.8) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (42, 2, 55.6) และคูเวต (47, 3, 53.6)
● ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน – โดยประเทศสามอันดับแรกในภูมิภาค ได้แก่ชิลี (44, 1, 55.3) โคลอมเบีย (50,2, 52.9) เม็กซิโก (51, 3, 52.6)
● เอเชียใต้ – โดยประเทศสามอันดับแรกในภูมิภาค ได้แก่ ภูฎาน (107, 1, 39.3) ศรีลังกา (109, 2, 39.0) มัลดีฟว์ (127, 3, 35.6 ซึ่งอันดับโลกและคะแนนเทากับอูกานดา)\
● แอฟริกาซับซาฮารา – เป็นกลุ่มที่ส่วนมากกระจุกตัวช่วงอันดับโลกที่ 120 – 180โดยประเทศสามอันดับแรกในภูมิภาค ได้แก่ เซเชล์ (38, 1, 58.2) กาบอน (76, 2, 45.8) และมอริเชียส (82, 3, 45.1) โดยอันดับโลกที่ 180 คือไลบีเรีย (180, 46, 22.6)
มองดูเอเชียแปซิฟิก
ประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกถูกจัดในอันดับโลกและมีคะแนนที่กระจายกันมาก สะท้อนถึงความหลากหลายของศักยภาพ พัฒนาการทางเศรษฐกิจ และทางการเมือง ญี่ปุ่นซึ่งติดอันดับที่ 12 ของโลก และอันดับที่ 1 ของภูมิภาค มีบทบาทเด่นด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณภาพอากาศ สุขาภิบาลและน้ำดื่มสะอาด ขณะที่ อันดับที่ 2 – 4 อย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน มีฝีมือโดดเด่นในหลายด้าน โดยสิงโปร์ได้คะแนน 99.6 จาก 100 ในด้านการจัดการน้ำ
โดยข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ประเทศชั้นนำด้านความยั่งยืนกลุ่มนี้มีลักษณะร่วมกันบางประการ คือมีประสบการณ์ด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรุดหน้าด้านผลิตภาพ (productivity) ที่คล้ายคลึงกัน ที่ทำให้สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างจริงจังและมีคุณภาพสูง
อย่างไรก็ดี ประเด็นการลดคาร์บอนอย่างเร่งด่วนให้เป็นไปตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีสยังคงเป็นความท้าทายหลักของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ทำไมยุโรปถึงมีบทบาทนำเรื่อง ‘ความยั่งยืน’
ส่วนใหญ่ของประเทศในกลุ่มนี้เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) และมีคะแนนอยู่ในลำดับสูงตามการจัดอันดับดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) โดยสำหรับ EPI ถือว่ามีผลงานที่โดดเด่นด้านสุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเพราะมีการดำเนินตามกรอบนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป มีความพยายามร่วมกันที่จะเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานหมุนเวียน
โดยเดนมาร์กซึ่งอยู่ในอันดับ 1 ของโลกและของกลุ่มมีบทบาทนำในทุกตัวชี้วัด โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการเป็นผู้นำด้านการใช้พลังงานจากกังหันลมและส่งออกเทคโนโลยีด้านนี้
อย่างไรก็ดี ทุกประเทศไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มภูมิภาคใด ยังคงต้องมีการพัฒนาในบางด้านตามแต่ละบริบทของประเทศต่อไป อย่างสหราชอาณาจักรยังคงต้องเน้นการจัดการการประมง โปรตุเกสที่เป็นผู้ส่งออกวัสดุเยื่อกระดาษทำจากยูคาลิปตัส ก็ต้องเร่งหาวิธีจัดการประเด็นนี้ซึ่งกระทบกับจำนวนป่าไม้และการเกิดไฟป่า เป็นต้น
EPI ในฐานะเครื่องมือทางนโยบายเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
EPI ไม่เพียงชี้ให้เห็น ‘คะแนน’ และ ‘อันดับ’ จาก 1 ถึง 180 ทั่วโลกเท่านั้น แต่ได้ทำให้เห็นสถานะความยั่งยืนของประเทศภายในกลุ่มภูมิภาคเดียวกันและภูมิภาคอื่น เปรียบเทียบสถานะระหว่างประเทศในกลุ่มภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจหรือผลการดำเนินงานในแต่ละด้านในลักษณะเดียวกัน ช่วยให้ตระหนักถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (determinants) ในแต่ละด้านที่สนับสนุนให้เกิด ‘ความยั่งยืน’ ประเด็นปัญหาที่ควรจะให้ความสนใจ ให้เกิดการทบทวนเป้าหมายหรือการตั้งเป้าหมายใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม แนะนำแนวทางปฏิบัติที่ใช้ได้จริงให้ผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถนำไปปรับปรุงหรือเสริมแต่งวาระการพัฒนาที่สำคัญ สร้างทางเลือกทางนโยบาย ตลอดจนการนำไปสู่การหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม
สุดท้ายนี้ EPI มีข้อสังเกตและคำแนะนำโดยสรุป ดังนี้
● การมีนโยบายที่ดีได้ยังขึ้นอยู่กับ ‘ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (GDP per capita)’ เพราะสามารถช่วยให้ลงทุนกับนโยบายและโครงการตามเป้าหมายสุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการสนับสนุนการดำเนินงานเหล่านั้น อย่างเช่น ทำให้มีน้ำดื่มสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี ลดมลพิษทางอากาศ ควบคุมขยะอันตราย ไปจนถึงตอบโต้กับวิกฤติการณ์ใดที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่และสุขภาวะที่ดีของมนุษย์ เป็นต้น
● ในทางกลับกัน การเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจที่มากเกินโดยละเลยมิติสิ่งแวดล้อม อาจทำให้ความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนหยุดชะงัก หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ หลักนิติรัฐ และการบังคับใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
● ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ อย่างการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ไม่อาจกระทำได้โดยประเทศเดียว แม้จะเป็นผู้นำในด้านนั้นก็ตาม นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ของ ‘ประเทศในซีกโลกใต้’ (Global South) ที่มักมีคะแนน EPI ต่ำ และมีประเด็นต้องดำเนินการเร่งด่วน อาทิ คุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
● ทุกประเทศควรมีการปรับปรุงข้อมูลและวิธีการเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาตัวชี้วัดภายในประเทศที่สอดคล้องหรือสามารถนำมาใช้สะท้อนกับตัวชี้วัดของ EPI ได้ รวมทั้งสามารถนำคำแนะนำและหลักคิดของ EPI มาเป็นแนวทางจัดการนโยบายและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมภายในประเทศได้
แปลและสรุปเรียบเรียงจาก: https://epi.yale.edu/
#SDGWatch #ihpp #SDG2 #SDG6 #SDG7 #SDG8 #SDG9 #SDG11 #SDG12 #SDG13 #SDG14 #SDG15 #SDG16 #SDG17
Last Updated on เมษายน 6, 2021