น้ำดื่มสะอาด สุขาภิบาล และระบบชลประทานที่ดีสำคัญต่อการหล่อเลี้ยงชีวิตใน ‘เมือง’ ทั้งการผลิตอาหารจนถึงโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม ให้สามารถตั้งรับ ปรับตัว ทนทาน (urban resilience) ต่อภัยธรรมชาติที่มากับน้ำอย่างน้ำท่วม น้ำแล้ง มลพิษทางน้ำ และการผันผวนของสภาพภูมิอากาศที่ยิ่งทำให้เมืองตกอยู่ในจุดเสี่ยงมากขึ้น
การพัฒนาเมืองจึงต้องตีโจทย์ข้างต้นพร้อมกับคิดออกแบบเมืองใหม่สู่ ‘เมืองอัจฉริยะด้านการจัดการน้ำ’ (water smart cities) โดยคำนึงถึง ‘การแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน’ (Nature-Based Solutions: NBS) อย่างการปลูกผักทำสวนบนดาดฟ้าหรือสร้างป่าในเมือง ที่จะช่วยให้มีทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย อาหารและน้ำ
ด้วยเครื่องมือที่สำคัญคือ ‘เทคโนโลยี’ โดยเริ่มจากการประเมินความท้าทายและความต้องการของพื้นที่ชุมชนและที่อยู่อาศัย ความซับซ้อนของเมือง ตึกสูงใหญ่ย่านใจกลางเมือง ความหนาแน่นของประชากร มุ่งแก้ปัญหาความท้าทายในสังคมและสิ่งแวดล้อมในด้านใด เพื่อนำไปสู่การเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม
การสร้างเมืองด้วยวิธีดั้งเดิมอย่างการสร้างพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะโดยที่การจัดการน้ำเป็นไปตามกลไกธรรมชาติ ลักษณะนี้เรียกว่าไม่มีการใช้เทคโนโลยี (No-tech green) แต่ก็มีความสำคัญมากต่อระบบนิเวศของเมือง ขณะที่หากยกตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี หน้าตาของประเภทเทคโนโลยี มีดังนี้
● Low-tech green : เพิ่มฟังก์ชั่นการจัดการน้ำฝน การกักเก็บน้ำที่ล้นเกินไว้ชั่วคราวหรือการระบายน้ำ นำไปผันใช้กับดิน เหมาะกับพื้นที่เมืองที่หนาแน่นแต่มีความต้องการจัดการน้ำไม่มากนัก
● High-tech green : เพิ่มฟังก์ชั่นการกัก เก็บ หรือนำหยาดน้ำฟ้า (หิมะ ลูกเห็บ ..) มาใช้ มีการออกแบบโครงสร้างให้ดินมีความแข็งแรงทนทานรองรับน้ำได้สูงหรือกลไกจัดการดินและน้ำในช่วงภัยแล้ง อาจมีการควบคุมระดับน้ำโดยการใช้เซนเซอร์ เป็นต้น ซึ่งศักยภาพของกลไกธรรมชาติอาจไม่เพียงพอ เหมาะกับพื้นที่เมืองที่หนาแน่นและมีความต้องการจัดการน้ำหรือหมุนเวียนการใช้น้ำอย่างเต็มรูปแบบให้เกิดความยั่งยืน
ทั้งนี้ การเข้าใจและสามารถเห็นความเป็นไปได้ของการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายไม่ว่าจะ low และ high หรือ no-tech อย่างน้อยทำให้การคิดแก้ปัญหาแบบ NBS เกิดขึ้นได้จริง สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน คงไว้ซึ่งระบบนิเวศ และทนทานต่อความท้าทายในประเด็นเรื่องน้ำที่มีต่อเมือง
หมายเหตุ: องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ให้คำจำกัดความ ‘การแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน’ (Nature-Based Solutions: NBS) ไว้ว่า ‘การดำเนินการปกป้อง จัดการอย่างยั่งยืน และฟื้นฟูธรรมชาติหรือระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป โดยจัดการกับความท้าทายทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและปรับตัวได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ และเป็นประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ SDGs
#SDG6 สร้างหลักประกันการมีน้ำสะอาดใช้ สุขอนามัยที่ดีสำหรับทุกคน มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นองค์รวมและยั่งยืน
#SDG11 เมืองที่มีความปลอดภัย มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะ ลดความสูญเสียและผลกระทบจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติจากน้ำที่มีต่อเมือง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG13 การลงมือทำอย่างเร่งด่วน การมีภูมิต้านทานและความสามารถปรับตัวต่อภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แหล่งที่มา:
https://www.greenroofs.com/2021/02/28/nature-based-solutions-for-urban-resilience-a-distinction-between-no-tech-low-tech-and-high-tech-solutions/
https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fenvs.2020.599060/full
https://www.iucn.org/commissions/commission-ecosystem-management/our-work/nature-based-solutions?fbclid=IwAR2um1T-22km_m6VXKhu_bHyBtBfFrp37uM2KkTt4lyG0uzfEIqkBOu1TUE
#SDGWatch #ihpp #SDG6 #SDG11 #SDG13
Last Updated on มีนาคม 1, 2021