ในวัน Zero Discrimination Day ในปี 2021 นี้ UNAIDS เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการเพื่อยุติความไม่เท่าเทียมกันอันเกิดจากรายได้ เพศ อายุ สถานะสุขภาพ อาชีพ ความพิการ รสนิยมทางเพศ การใช้ยาเสพติด อัตลักษณ์ทางเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น ชาติพันธุ์และศาสนา ที่ยังคงมีอยู่ทั่วโลก
โดยปีนี้ให้ความสำคัญกับความไม่เท่าเทียมที่เกี่ยวข้องกับการตีตราผู้ติดเชื้อ HIV และการเลือกปฏิบัติ เพราะการเผชิญหน้ากับความไม่เท่าเทียมกันและการยุติการเลือกปฏิบัติมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยุติโรคเอดส์ ปัจจุบันโลกกำลังมุ่งมั่นร่วมกันในการยุติการแพร่กระจายของโรคเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573 แต่การดำเนินการนั้นกลับล่าช้าอย่างมาก โดยสาเหตุไม่ใช่เพราะขาดความรู้ความสามารถหรือวิธีที่จะเอาชนะโรคเอดส์ได้ แต่เป็นเพราะความไม่เท่าเทียมกันเชิงโครงสร้างที่ขัดขวางแนวทางการป้องกันและรักษา HIV ที่เกิดขึ้นบนโลก
แคมเปญ Zero Discrimination Day ในปีนี้เน้นย้ำถึงแผนปฏิบัติการที่ระดับบุคคล ระดับภาคประชาสังคมหรือรัฐบาล เพื่อยุติปัญหาความไม่เท่าเทียมนี้
5 ปฏิบัติการจากระดับบุคล
- บอกกล่าวทุกคนให้เห็นว่ามีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น เพื่อเราจะได้สร้างความสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โพสต์ความคิดริเริ่มสำหรับยุติการเลือกปฏิบัติของคุณลงโซเชียลมีเดีย
- เป็นพันธมิตร ส่งเสียงเรียกร้องเมื่อคุณพบเห็นความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น
- เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาล สมาชิกรัฐสภา หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน
- ส่งคำร้องเรียนเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ความคิดริเริ่ม และทัศนคติที่ตีตราและเลือกปฏิบัติ
- สนับสนุนแคมเปญหรือองค์กรที่กำลังดำเนินการเพื่อสร้างโลกให้มีความยุติธรรมและเท่าเทียมกันมากขึ้น
5 ปฏิบัติการจากระดับภาคประชาสังคม
- เริ่มต้นการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันรุนแรงมากขึ้น เน้นกฎหมายที่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้เราสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงร่วมกันได้
- ให้การสนับสนุนและสร้างพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงการสนับสนุนทางกฎหมายและการดูแลเอาใจใส่ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ
- จัดตั้งกลุ่มสนทนาเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนในสถานที่ทำงาน โรงเรียนคลินิก หรือเครือข่ายเพื่อน
- ส่งคำร้องเรียนเพื่อลบกฎหมายที่เลือกปฏิบัติ ต่อตัวแทนในรัฐสภาหรือรัฐบาลท้องถิ่น สำนักงานสหประชาชาติ หรือหน่วยงานระดับชาติที่รับผิดชอบการดูแลสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศ
- ส่งเสริมและใช้นโยบายเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม
5 ปฏิบัติการจากระดับสมาชิกรัฐสภาและรัฐบาล
- รับทราบถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นและผลกระทบต่อผู้คน
- สร้างความตระหนักในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ สมาชิกของระบบยุติธรรม และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย
- อำนวยความสะดวกในเวทีต่างๆ ของสมาชิกรัฐสภา ทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล โดยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมกฎหมายที่ดีเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีและศักดิ์ศรีขั้นพื้นฐานของทุกคน ตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน
- เป็นพันธมิตรกับภาคประชาสังคม และดำเนินการตามคำขอเพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมและให้พื้นที่สำหรับภาคประชาสังคมแสดงความคิดเห็น
- ตั้งโต๊ะการพิจารณาแก้ไขกฎหมายหรือเรียกร้องให้มีการทบทวนกฎหมายที่เลือกปฏิบัติ
5 ปฏิบัติการจากระดับพันธมิตรและองค์กรผู้ให้บริจาค
- รับทราบถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นและผลกระทบต่อผู้คน
- ส่งเสริมและใช้นโยบายเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานขององค์กรผู้ให้บริจาต
- มุ่งมั่นที่จะจัดลำดับความสำคัญของการปฏิรูปกฎหมายที่เลือกปฏิบัติในหกพื้นที่ คือ 1) ภาคสุขภาพ 2) ภาคการศึกษา 3) สถานที่ทำงาน 4) ระบบยุติธรรม 5) ครอบครัวและชุมชน และ 6) ในสถานการณ์ฉุกเฉินและด้านมนุษยธรรม ตามที่ได้กำหนดใน Global Partnership to Eliminate All Forms of HIV-Related Stigma and Discrimination
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเงินจากการระดมทุนไปสู่โครงการที่มีหัวใจหลักคือการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมความเท่าเทียมกัน
- ทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติหรือกำลังดำเนินการเพื่อยุติความไม่เท่าเทียมกัน
ดาวน์โหลดโบรชัวร์ Zero Discrimination Day 2021 จาก UNAID ได้ ที่นี่
เข้าถึงข้อมูล Zero Discrimination Day 2021 ได้ ที่นี่
การลดความไม่เท่าเทียมกัน และความพยายามยุติโรคเอดส์ เชื่อมโยงกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย เป้าประสงค์ 3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573 เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ