จากงานวิจัยหัวข้อ “Effects of US state preemption laws on infant mortality” โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Syracuse ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้นจะช่วยลดการเสียชีวิตของเด็กทารกแรกเกิด โดยค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นแต่ละดอลลาร์ช่วยลดการเสียชีวิตของทารกในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐอเมริกาได้ถึง 1.8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
ค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาคงที่มาตั้งแต่ปี 2009 เมื่อ โจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาประกาศแผนการช่วยเหลือชาวอเมริกัน (American Rescue Plan) มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมีแผนให้สภาครองเกรสเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 7.25 ดอลลาร์/ชั่วโมง เป็น 15 ดอลลาร์/ชั่วโมง แต่ความพยายามนี้มีการต่อต้านจากรัฐที่ขัดขวางไม่ให้รัฐบาลท้องถิ่นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่าเพราะอาจทำให้แรงงานตกงานมากกว่า 1 ล้านคน เพราะธุรกิจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มค่าแรง
งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้นช่วยลดการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น การสูบบุหรี่ของมารดา โรคอ้วนและผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การคลอดบุตรที่มีน้ำหนักตัวน้อย และการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด
นักวิจัยใช้ข้อมูลการเสียชีวิตของทารกในแต่ละเทศมณฑล (county) ระหว่างปี 2001-2018 จากศูนย์สถิติสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National. Center for Health Statistics) และข้อมูลระดับค่าแรงขั้นต่ำสำนักงานสถิติแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Bureau of Labor Statistics) เพื่อตรวจสอบว่าจะมีทารกจำนวนเท่าใดที่จะเกิดและมีชีวิตรอด หากรัฐต่างๆ อนุญาตให้เมืองและเทศมณฑลต่างๆ ในรัฐเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำได้
ผลการศึกษาที่สำคัญได้แก่
- รัฐต่างๆ กำลังกีดกันรัฐบาลเมืองและเทศมณฑลไม่ให้ออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อแรงงาน เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
- ค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นแต่ละดอลลาร์ช่วยลดการเสียชีวิตของทารกในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐอเมริกาได้ถึง 1.8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
- ใน 25 รัฐที่งดเว้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หากท้องถิ่นได้รับอนุญาตให้ขึ้นค่าแรงได้เป็น 9.99 ดอลลาร์/ชั่วโมง อาจช่วยชีวิตทารกได้มากกว่า 600 คนต่อปี
- ทารกมากกว่า 1,400 คนต่อปี จะเกิดและมีชีวิตรอดหากท้องถิ่นได้รับอนุญาตให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์/ชั่วโมง
- กฎหมายของรัฐที่กีดกันไม่ให้เมืองและเทศมณฑลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีส่วนทำให้ทารกเสียชีวิต
นักวิจัยกล่าวในรายงานว่า “การรักษาค่าจ้างขั้นต่ำให้ต่ำอาจช่วยปกป้องผลกำไรของธุรกิจและทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าและบริการที่ราคาถูกได้ แต่ผลการศึกษาของเราชี้ให้เห็นว่าต้องแลกมากับมูลค่าชีวิตมนุษย์ที่สูงมาก”
ความสัมพันธ์ระหว่างค่าแรงขั้นต่ำต่ออัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย เป้าประสงค์ 3.2 ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายในทารกลงให้ต่ำถึง 12 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงให้ต่ำถึง 25 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ภายในปี 2030 และ เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และ มีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน เป้าประสงค์ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2030