วันอ้วนโลก (World Obesity Day) ถูกตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2015 โดย World Obesity Federation ที่เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรซึ่งขึ้นตรงกับองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมีความมุ่งหวังที่จะ “หยุดการเพิ่มขึ้น” ของ วิกฤตโรคอ้วน (Obesity Crisis) ทั่วโลกให้ได้ภายในปี 2025
ทำไมเราต้องร่วมมือกันหยุดโรคอ้วนตั้งแต่ตอนนี้ ?
เพราะ ..
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วนที่เป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีโอกาสที่จะอาการรุนแรงจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่าคนสุขภาพปกติสองเท่า
- โรคอ้วนในวัยเด็กคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 60% ในทศวรรษหน้า โดยจะมีจำนวนสูงถึง 250 ล้านคนภายในปี 2030
- ต้องใช้งบประมาณทางการแพทย์มูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อรักษาโรคอ้วนและผลกระทบสุขภาพด้านอื่นๆ ภายในปี 2025
- มีคนเป็นโรคอ้วนมากถึง 800 ล้านคนทั่วโลก
ความอ้วน เป็น โรคและต้องได้รับการรักษาเหมือนอาการเจ็บป่วยอื่นๆ เราทุกคนสามารถมีส่วนในการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ที่เป็นโรคอ้วน เราต้องเข้าใจว่าทุกคนมีส่วนสำคัญเพื่อสร้างโลกที่สุขภาพดีกว่าให้กับทุกคน
ดาวน์โหลด ข้อมูลเกี่ยวกับโรคอ้วนเพิ่มเติมบนเว็บไซต์ World Obesity Day 2021
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดเสวนาถอดบทเรียนสถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทย เนื่องใน “วันอ้วนโลก” (World Obesity Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงภัยเงียบที่แฝงมากับพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมจนน้ำหนักเกิน และเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ (NCDs :non-communicable diseases)
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพบ “คนอ้วน” มากกว่า 800 ล้านคน กระจายอยู่ทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ขณะที่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพบเด็กและผู้ใหญ่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจำนวนมาก จากการบริโภคเกินความจำเป็น ไม่ถูกหลักโภชนาการ โดยในปี 2557 ถึงปัจจุบันพบคนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 34.1 มีภาวะ “อ้วน” และมีคนไทยที่รอบเอวเกิน “อ้วนลงพุง” กว่า 20.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ทั้ง 2 กลุ่ม เสี่ยงป่วยเป็นโรค NCDs
อ่านความคิดเห็นจากนักวิชาการด้านสุขภาพท่านอื่นในงานเสวนาถอดบทเรียนสถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทย เนื่องใน “วันอ้วนโลก” (World Obesity Day) ได่แก่
- ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และนักโภชนาการอิสระ
- รศ.พญ.พิมพ์ใจ อันทานนท์ กรรมการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย
- พ.ท.หญิง พญ.สิรกานต์ เตชะวณิช กรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และ
- นางสาวอรณา จันทรศิริ นักวิจัยจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)
ได้ ที่นี่
ความอ้วน เป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย เป้าประสงค์ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2030