การศึกษาและรายได้ สัมพันธ์อายุขัยของชาวสิงคโปร์ คนเรียนสูงกว่า อายุยืนกว่า

นายกัน คิม ยอง (Gan Kim Yong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ กล่าวว่า ชาวสิงคโปร์ที่อายุครบ 25 ปี ในปี 2019 และจบการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษา คาดว่าจะมีอายุยืนยาวถึง 81 ปี แต่หากจบการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาจะมีอายุยืนถึง 86.8 ปี

ข้อมูลนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พบว่า อายุขัยเฉลี่ยของคนในประเทศกลุ่ม OECD และสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นทั้งคู่ โดยที่อายุขัยของประชากรที่มีการศึกษาต่ำในสิงคโปร์สูงกว่าประชากรที่มีการศึกษาต่ำในประเทศ OECD ส่วนใหญ่

นายกัน คิม ยอง เตือนว่าการเปรียบเทียบสถิติ เช่น อายุขัย และอัตราการเจ็บป่วยเรื้อรัง ในประชากรกลุ่มย่อยที่พิจารณาจากรายได้ของครัวเรือน ระดับการศึกษา หรือประเภทที่อยู่อาศัย จำเป็นต้องได้รับการตีความอย่างรอบคอบ เพราะโดยเฉลี่ยแล้วกลุ่มประชากรในสิงคโปร์ที่มีอายุมากกว่าจะได้รับการศึกษาระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรที่อายุน้อยกว่า

เมื่อพิจารณาถึงรายได้ของครัวเรือนและประเภทที่พักอาศัย จะพบว่ารายได้มักจะลดลงเมื่อสมาชิกในครัวเรือนเกษียณอายุและผู้สูงอายุบางคนอาจย้ายจากแฟลตขนาดใหญ่ไปเป็นแฟลตขนาดเล็กเมื่อลูกๆ โตขึ้นและย้ายออกจากบ้าน

เนื่องจากในอดีต สิงคโปร์ไม่ได้มีระบบการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมเช่นปัจจุบัน กลุ่มประชากรที่มีอายุมากกกว่าในสิงคโปร์ที่ไม่ว่าจะอยู่ในระดับเศรษฐกิจ-สังคมใดจึงเติบโตมาโดยไม่ได้รับประโยชน์การโครงการส่งเสริมสุขภาพ นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาสุขภาพเมื่อสูงอายุขึ้น

นายกัน คิม ยอง “ผลการศึกษาที่เชื่อมโยงกับ ระดับการศึกษา กลุ่มรายได้ หรือประเภทที่อยู่อาศัย จึงเป็นภาพสะท้อนส่วนหนึ่งของความแตกต่างระหว่างกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่าและอายุน้อยกว่า มากกว่าความแตกต่างโดยตัวระดับเศรษฐกิจ-สังคมเอง”

รัฐมนตรีฯ ยังชี้ให้เห็นว่า อายุขัยนี้คำนวณโดยมีสมมติฐานว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของอัตราการตายที่พบในปัจจุบัน และยังให้ความมั่นใจว่าจะมีการใช้มาตรการเพื่อให้ชาวสิงคโปร์ทุกคน รวมทั้งผู้ที่จากกลุ่มระดับสถานะเศรษฐกิจ-สังคมที่ต่ำกว่าให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง

การเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น ทำให้สุขภาพดีขึ้น และอาจหมายความว่าอัตราการตายของกลุ่มประชากรรุ่นหลังจะต่ำลงและอาจมีอายุขัยยืนยาวกว่าที่คำนวณไว้

เมื่อพิจารณาถึงความชุกของการเจ็บป่วยเรื้อรังในผู้ที่มีระดับการศึกษา รายได้ และประเภทที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกัน มีข้อมูลว่า ผู้ชายที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษา มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวาน 1.7 เท่า มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง 1.2 เท่าและมีแนวโน้มที่จะมีคอเลสเตอรอลสูงถึง 1.2 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษา

สำหรับผู้หญิงที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษามีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน 1.5 เท่า เป็นโรคความดันโลหิตสูง 1.7 เท่า และคอเลสเตอรอลสูง 1.4 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษา

“มากกว่าร้อยละ 90 ของชาวสิงคโปร์ที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่าที่มีอาการเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ไปพบแพทย์เพื่อดูอาการในปีที่ผ่านมา” นายกัน คิม ยองกล่าว

“ดังนั้นแม้ว่าพวกเขาจะมีความเสี่ยงมากกว่า แต่พวกเขาก็สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้และให้ผลลัพธ์ด้านสุขภาพในการจัดการระดับน้ำตาลในเลือด ระดับคอเลสเตอรอล และการควบคุมความดันโลหิตเทียบเคียงได้กับคนสิงคโปร์ที่มีการศึกษาดีกว่า”

“กระทรวงสาธารณสุขให้ความมั่นใจว่าโครงการส่งเสริมสุขภาพจะต้องเข้าถึงได้ โดยที่ชาวสิงคโปร์ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่ราคาจ่ายได้ ทันเวลา และมีคุณภาพ” นายกัน คิม ยองกล่าวเสริม

สุขภาพและอายุขัยเฉลี่ย เกี่ยวข้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย

ที่มา: https://www.straitstimes.com/singapore/politics/parliament-education-income-correlate-with-singaporeans-life-expectancy-and

Last Updated on มีนาคม 5, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น