ทำไมสุขภาพผู้หญิงจึงสำคัญ หรือกล่าวในอีกแง่หนึ่งคือ ทำไมต้องให้ความสนใจกับสุขภาพของผู้หญิง?
เพราะระบบสุขภาพจำเป็นต้องให้บริการครอบคลุมทุกเพศ ขณะที่ระบบในปัจจุบันอาจมี ‘ความไม่เท่าเทียมทางเพศ’ อยู่ จึงต้องทำให้มั่นใจว่าระบบจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของผู้หญิงได้ รวมไปถึงการคำนึงประเด็นที่มาพร้อมกับ ‘เพศ’ ด้วย อาทิ อายุขัยเฉลี่ย อัตราการตาย สภาพร่างกายจากการตั้งครรภ์ การมีประจำเดือนมาก หรือการหมดประจำเดือน มะเร็งเต้านมในวัยกลางคน ไปจนถึงประเด็นอื่น ๆ อาทิ การฆ่าตัวตายเป็นต้น
เนื่องในวันสตรีสากล (8 มีนาคม 2564) รัฐบาลอังกฤษจึงเปิดโอกาสให้ผู้หญิง รวมไปถึงคนหรือองค์กรที่ทำงานดูแลและให้บริการผู้หญิง สามารถแจ้งประสบการณ์ที่มีกับระบบสุขภาพหรือประสบการณ์การให้บริการผู้หญิง เพื่อพัฒนา ‘ยุทธศาสตร์สุขภาพของผู้หญิง’ (Women’s Health Strategy) สำหรับหญิงชาวอังกฤษทุกคน
โดยธีมของยุทธศาสตร์ มี 6 ข้อ คือ
- ให้เสียงของผู้หญิงสะท้อนมาเป็นศูนย์กลางของการให้บริการด้านสุขภาพ
- ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้ตลอดช่วงชีวิต
- ให้มีข้อมูลและการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพของผู้หญิงที่มีคุณภาพเป็นความรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) สำหรับการตัดสินใจ
- ให้มีการทำความเข้าใจสุขภาพของผู้หญิงในที่ทำงาน ว่าสุขภาพของผู้หญิงอาจกระทบกับการทำงานอย่างไร อาทิ อาการหมดประจำเดือน โรคกล้ามเนื้อและโครงกระดูก (Musculoskeletal Diseases)
- ให้งานวิจัย หลักฐาน และข้อมูล ช่วยสนับสนุนสุขภาพของผู้หญิง
- เข้าใจและตอบโต้ต่อผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพของผู้หญิง ให้ผู้หญิงสามารถผ่านวิกฤติไปได้
“การเดินทางไปสู่การทำให้บริการสาธารณสุขมีความเท่าเทียมสำหรับทุกคน ทำให้เราต้องชี้ช่องว่างให้พบ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เห็นรัฐบาลเดินก้าวที่สำคัญในการจัดการกับช่องว่างสุขภาพบนฐานของเพศสภาพ (gender health gap)… เราอยากทำให้สหราชอาณาจักรเป็นผู้นำของโลกในด้านสุขภาพของผู้หญิง”
– Dr Geeta Nargund, ที่ปรึกษาระดับสูงของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 กล่าวถึงการสร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย
#SDG5 กล่าวถึงการบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจเสริมพลังผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน
#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3 #SDG5