การทำงานบ้านควรคิดเป็นเงินมูลค่าเท่าไร ? เมื่อผู้หญิงทั่วโลกยังคงเป็นฝ่ายรับผิดชอบงานส่วนใหญ่ในบ้าน

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลแขวงในกรุงปักกิ่งพิพากษาคดีฟ้องหย่าให้ชายคนหนึ่งจ่ายเงินชดเชยให้อดีตภรรยาเป็น ‘ค่าทำงานบ้าน’ ตลอดระยะเวลาห้าปีของการแต่งงาน เป็นจำนวนเงิน 50,000 หยวน (ราว 2.3 แสนบาท) ซึ่งเธอร้องเรียนต่อผู้พิพาษาว่าเธอ “ดูแลลูกและจัดการงานบ้านในขณะที่ [สามีของเธอ] ไม่สนใจหรือมีส่วนร่วมในงานบ้านอื่นใด นอกจากออกไปทำงาน” แต่กระแสสังคมหลายเสียงกล่าวว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยเกินไป หากเปรียบเทียบกับค่าจ้างพี่เล็กเด็กในปักกิ่งที่ต้องจ่ายมากกว่า 50,000 หยวนต่อปี

โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงจีนใช้เวลาทำงานบ้านวันละ 4 ชั่วโมงเทียบกับผู้ชายประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ในประเทศอินเดีย ผู้หญิงใช้เวลาถึงห้าชั่วโมงต่อวัน ใขณะที่ผู้ชายมีเวลาให้งานบ้านเพียงครึ่งชั่วโมง

รัฐบาลจีนได้กำหนดนโยบายใหม่ที่มุ่งส่งเสริมให้คู่สมรสมีหน้าที่เลี้ยงดูบุตรร่วมกันและยังเป็นการปกป้องสิทธิสตรี ตัวอย่างเช่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการให้สิทธิลาคลอดของคุณพ่อโดยยังได้รับค่าจ้าง โดยประมาณ 15 วัน ซึ่งยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสิทธิลาคลอดของคุณแม่ที่ได้ถึง 98 วัน

เมื่อปี 2020 ในประเทศอังกฤษ ผู้หญิงคนหนึ่งได้รับเงินชดเชย 520,000 ดอลลาร์ (ราว 16 ล้านบาท) จากการแบ่งทรัพย์สินของระหว่างคู่สมรสในการกระบวนการหย่า โดยเธอร้องต่อศาลว่าเธอสมควรได้รับเงินอีกจำนวนหนึ่ง เพราะเธอเสียสละออกจากออกจากงานสายกฎหมายที่กำลังก้าวหน้าอย่างมากและได้ค่าตอบแทนสูงเพื่อดูแลสามีและลูก ศาลเห็นด้วยกับเธอ โดยจำนวนเงินนี้ไม่เพียงเป็นค่าชดเชยสำหรับการทำงานบ้าน แต่สำหรับเส้นทางอาชีพด้านกฎหมายที่เธอต้องทิ้งไปด้วย

The Economist รายงานว่า ผู้หญิงหลายคนต้องออกจากงานอย่างไม่มีทางเลือกเมื่อมีลูก ซึ่งอาจมีสาเหตุเพราะค่าใช้จ่ายในการจ้างพี่เลี้ยงหรือคนดูแลบ้านนั้นสูงกว่าเงินเดือนที่หาได้ โดยเฉพาะเมื่อชั่วโมงการทำงานและรายได้ลดลงเพราะต้องให้เวลาในการดูแลครอบครัวมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ความตระหนักถึงคุณค่าของการทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้างทั้งทางกฎหมายและทางการเงินเป็นเรื่องที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่วิธีการที่ง่าย (และเป็นธรรม) กว่านั้นคือการแบ่งภาระงานในบ้านอย่างเท่าเทียมกัน

แม้แต่ในโลกตะวันตก ผู้หญิงยังคงเป็นคนที่รับผิดชอบงานบ้านและการเลี้ยงดูลูกเป็นส่วนใหญ่ จากรายงานของ European Institute for Gender Equality (EIGE) พบว่า ภาระงานที่ไม่เท่าเทียมนี้ทำให้ผู้หญิงยุโรปยุโรป 7.7 ล้านคน ต้องออกจากตลาดแรงงาน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายที่ต้องออกจากงานเพียง 450,000 คน และจากรายงาน Time to Care ของ Oxfam ในปี 2020 คำนวณว่ามูลค่าทางการเงินของการดูและทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้างทั่วโลกสำหรับผู้หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไปอยู่ที่อย่างน้อย 10.8 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 จากรายสำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐฯ พบว่าผู้หญิงใช้เวลาดูแลลูกโดยเฉลี่ยมากกว่าสามชั่วโมงต่อวัน เมื่อเทียบกับผู้ชายเพียงสองชั่วโมงในช่วงล็อกดาวน์และทั้งสองฝ่ายต้องทำงานจากบ้านในปี 2020 ที่ผ่านมา

นอกจากนั้น นโยบายการลางานเพื่อเลี้ยงดูลูกก็ยังคงไม่ได้สัดส่วนเช่นเดียวกันกับประเทศในโลกตะวันออก จะเห็นได้จากสิทธิการลาคลอดของคุณพ่อใน 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอยู่ที่ 1.7 สัปดาห์โดยเฉลี่ย และสิทธิของแม่อยู่ที่ 14 สัปดาห์ ทำให้ความรับผิดชอบงานในบ้านตกหนักอยู่ฝั่งแม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

The Economist เสนอว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการเขียนกฎหมายใหม่เกี่ยวกับค่าตอบแทนสำหรับการทำงานบ้าน คือการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกฎหมายหรือนโยบายที่มีอยู่เดิมที่ส่งเสริมการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรร่วมกัน หรือ Shared Parental Leave (SPL) ที่ให้แม่ใช้สิทธิลาเพื่อเลี้ยงดูลูกให้สั้นลง เพื่อให้พ่อเป็นฝ่ายหยุดงาน หรือทั้งพ่อและแม่สามารถใช้สิทธิลาพร้อมกันหรือสลับกันอย่างยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความกดดันให้ฝ่ายแม่ และเพิ่มช่วงเวลาที่พ่อจะได้ใช้เวลากับลูกมากขึ้น

ภาระงานดูแลบ้านและเลี้ยงดูลูกของผู้หญิง เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน ในเป้าประสงค์ 5.4 ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดให้มีบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ

ที่มา:
https://www.economist.com/the-economist-explains/2021/03/08/how-much-is-doing-the-household-chores-worth
https://www.economist.com/graphic-detail/2020/10/29/gender-equality-in-europe-is-still-a-long-way-off
https://www.independent.co.uk/voices/china-housework-divorce-gender-pay-gap-b1806912.html
https://www.bbc.com/news/world-asia-china-56178510

https://www.theguardian.com/money/2015/apr/11/shared-parental-leave-rules-equality

Last Updated on มีนาคม 9, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น