Site icon SDG Move

ผู้หญิงญี่ปุ่นฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในปี 2020 อาจเพราะโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงรุนแรงกว่า

ญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่เคยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดอัตราการฆ่าตัวตายลงได้ถึงราวหนึ่งในสาม แต่ในปี 2020 เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ที่อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น โดยตัวเลขผู้ชายที่ฆ่าตัวตายลดลงเล็กน้อย ในขณะที่จำนวนผู้หญิงที่ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเกือบ 15% และเฉพาะในเดือนตุลาคม ปี 2020 เพียงเดือนเดียว อัตราการฆ่าตัวตายในหมู่ผู้หญิงเพิ่มขึ้นถึง 70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ซึ่งรูปแบบที่เปลี่ยนไปนี้ อาจมีความเกี่ยวพันกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

วิกฤตเศรษฐกิจในอดีตของญี่ปุ่นทั้งในปี 2008 หรือช่วงต้นทศวรรษ 90 จะส่งผลกระทบต่อผู้ชายวัยกลางคนเป็นส่วนใหญ่ และเป็นผู้ชายที่ฆ่าตัวตายมากขึ้นในช่วงเวลานั้น แต่โควิด-19 ส่งผลต่อคนรุ่นใหม่มากกว่า โดยเฉพาะผู้หญิงเป็นพิเศษ

การระบาดของโควิด-19 เป็นวิกฤตสุขภาพที่เกิดขึ้นกับทั้งชายและหญิงพอๆ กัน แต่กลับส่งผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจต่อผู้หญิงมากกว่า มีรายงานว่าจำนวนผู้หญิงว่างงานเพิ่มขึ้น 20 ล้านคน เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020 ซึ่งเพิ่มขึ้น 34.5% จากช่วงเวลานี้ในปีที่แล้ว ในขณะที่จำนวนผู้ชายที่ว่างงานเพิ่มขึ้นในสัดส่วนน้อยกว่าที่ 31.8%

ผู้หญิงกลายเป็นเพศที่ต้องตกงานมากกว่า เพราะอุตสากรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนามากที่สุด คือ อุตสาหกรรมที่ผู้หญิงเป็นแรงงานส่วนใหญ่ เช่น การท่องเที่ยวและโรงแรม ร้านค้าปลีก และอุตสาหกรรมอาหาร

นอกจากความลำบากทางเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยของผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตผู้หญิงมากกว่า ปัจจัยที่เป็นไปได้อื่นๆ ได้แก่ ความเครียดจากการทำงานจากที่บ้านซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวหรือปัญหาด้านความสัมพันธ์ และภาระงานในบ้านที่ต้องดูแลบ้านและจัดการดูแลเด็กมากเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติในช่วงที่โรงเรียนปิดเพราะคำสั่งล็อกดาวน์ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการดูแลงานในบ้านของผู้หญิงเพิ่มมากกว่า แม้กระทั่งในครอบครัวที่ทั้งสามีและภรรยามีรายได้จากงานนอกบ้าน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้เน้นย้ำถึงประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ผู้หญิงต้องเผชิญทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม Nobuko Kobayashi, Asia-Pacific Strategy Execution Leader, EY เสนอว่า เราต้องจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นระบบ

  1. เราจำเป็นต้องมีแคมเปญเพื่อแก้ไขความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน – ส่งเสริมให้ผู้ชายทำงานบ้านและดูแลเด็กมากขึ้น ส่งข้อความให้สังคมตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการแบ่งภาระงานที่มองไม่เห็นนี้ให้เหมาะสมเท่าเทียมกัน
  2. เราต้องจัดการกับ “ชุดปัญหาของผู้หญิง” ที่เผยให้เห็นชัดเจนขึ้นเพราะการระบาดของโควิด-19 เช่น ความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในปี 2020 ด้วยการจัดให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือที่ปลอดภัยและไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์
  3. เราต้องลงทุนในการสร้างทักษะใหม่ๆ ที่เป็นที่ต้องการของการทำงานในโลกอนาคต เพราะโลกหลังโควิด-19 หลายงาน เช่น งานธุรการ ที่มีเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ หากไม่มีการยื่นมือเข้ามาช่วยพัฒนาทักษะเพิ่มเติมให้ผู้หญิง พวกเธอก็จะยังคงได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจแม้โรคระบาดจะหมดไปแล้ว
ปัญหาสุขภาพจิตของผู้หญิง ที่อาจมีสาเหตุมาจากสภาวะสังคมและเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย เป้าประสงค์ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2030, เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน และ เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และ มีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน

ที่มา: https://www.weforum.org/agenda/2021/03/japan-mental-health-crisis-gender-equality/
https://www.bbc.com/news/world-asia-55837160

* ถ้าคุณต้องการใครสักคนเป็นเพื่อนพูดคุย สามารถโทรไปที่สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย 02-7136793 เวลา 12.00-22.00 น. หรือ สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 *

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version