จากรายงาน Preventing violence against women and girls: Community activism approaches to shift harmful gender attitudes, roles and social norms โดย What works และ UK AID แสดงให้เห็นว่า การสนทนาหรือการให้ความรู้เรื่องเพศวิถีศึกษาในประเด็น ‘ความยินยอม’ และ ‘การข่มขืน’ เพียงรอบเดียว แทบไม่มีอิทธิพลในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ดังนั้น การดำเนินการเพื่อให้ความรู้ด้านเพศวิถีที่มีประสิทธิภาพต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบและค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจบรรทัดฐานทางสังคมที่เป็นอันตรายและเป็นรากฐานของปัญหาต่างๆ เช่น วัฒนธรรมการข่มขืน การใช้ความรุนแรงต่อคู่ครอง และการรังแกคนรักเพศเดียวกัน เป็นต้น
Shelly Makleff นักวิจัยด้านสุขภาพโลกและผู้หญิง มหาวิทยาลัย Monash ประเทศออสเตรเลีย ได้ศึกษาการดำเนินงานของโปรแกรมการสอนเพศวิถีศึกษาด้วยแนวทางการเปลี่ยนแปลงบทบาททางเพศ (Gender transformative sexuality education) ของ Mexfam ในประเทศเม็กซิโก พบปัจจัยที่สำคัญในแนวทางการสอนเพศวิถีศึกษาที่จะช่วยเปลี่ยนความเชื่อและพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อประเด็นเรื่องเพศและความสัมพันธ์ได้
นั่นคือ:
ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการถกเถียงในห้องเรียน
เพื่อเปลี่ยนความเชื่อและบรรทัดฐานทางเพศที่เป็นอันตรายซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ จำเป็นต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีการแสดงความคิดไตร่ตรองเชิงวิพากษ์ (critical reflection) ต่อความคิดความเข้าใจเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเพศวิถี
หน่วยงานที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนในเม็กซิโกซึ่งมีหน้าที่ให้บริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ได้พัฒนาหลักสูตรเพศวิถีศึกษาขึ้นมาในปี 2016 และจัดการสอนทุกสัปดาห์ในตลอดหนึ่งภาคการศึกษาให้แก่นักเรียน 185 คนในโรงเรียนหนึ่ง โดยแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 20 คน ระหว่างอายุ 14-17 ปี ต่อกระบวนกร 1 คน ซึ่งกระบวนกรต้องมีอายุไม่เกิน 30 ปี และได้รับการอบรมให้เป็นผู้ให้ความรู้ด้านสุขภาพมืออาชีพ เขา/เธอจะช่วยนำกระบวนการกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้คิดไตร่ตรองเชิงวิพากษ์ต่อความเชื่อและบรรทัดฐานทางสังคมที่ตนเองเข้าใจและยึดถือ
บทสนทนาดังกล่าวอาจเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เช่น ธรรมชาติของความรัก และพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีในความสัมพันธ์ บทบาททางเพศ และบรรทัดฐานทางสังคม
ในบางสถานการณ์ การสนทนาเรื่องนี้อาจทำให้ผู้เข้าร่วมไม่พอใจและอาจกระตุ้นให้เกิดการคุกคามทางวาจาหรือความรุนแรงในห้องเรียน กระบวนกรต้องใช้โอกาสนี้ในการชี้นำให้เห็นผลที่ตามมาจากการมีบรรทัดฐานทางสังคมที่เป็นอันตรายเหล่านั้น
ภาครัฐและองค์กรระดับชุมชนที่มีประสบการณ์ต้องร่วมมือกัน
ภาครัฐต้องกำหนดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีสำหรับเยาวชนที่มีคุณภาพสูงและได้มาตรฐานเท่าเทียมกันทุกสถานศึกษา โดยต้องมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระดับชาติและองค์กรระดับชุมชนที่มีประสบการณ์ด้านเพศวิถีศึกษาโดยตรง เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ผู้ปกครองสามารถมีส่วนร่วมได้
การมีการเรียนเพศวิถีศึกษาที่ดีจะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองที่อาจไม่พร้อมเป็นผู้ให้ความรู้เรื่องสุขภาพทางเพศแก่เยาวชน อีกทั้งยังเป็นสะพานให้เกิดการสนทนาที่เปิดกว้างและสะท้อนความคิดความเชื่อในครอบครัว นอกจากนั้น เรายังพบว่านักเรียกมักบอกเล่าเรื่องที่ได้เรียนมาให้คนใกล้ตัวฟัง ผู้ปกครองเองก็จะได้รับประโยชน์จากการเรียนไปพร้อมกับนักเรียนด้วย
—
หลายครั้งความรุนแรงทางเพศก็เกิดขึ้นในโรงเรียน การลงทุนเพื่อเพศวิถีศึกษาที่มีคุณภาพในสถานศึกษาให้เยาวชนจะช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากความเชื่อและบรรทัดฐานที่เป็นอันตรายได้ตั้งแต่ต้นทาง
การพัฒนาหลักสูตรเพศวิถีศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเยาวชน เพื่อป้องกันการเกิดความรุนแรงทางเพศ เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในเป้าประสงค์ที่ 4.5 ขจัดความเหลี่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี 2030 และเป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน ในเป้าประสงค์ที่ 5.2 ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การแสวงประโยชน์ทั้งทางเพศ และในรูปแบบอื่น
Last Updated on มีนาคม 11, 2021