เป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนเศษที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือ พม่า อยู่ในภาวะโกลาหลภายหลังการรัฐประหารภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรค NLD ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งทั่วไป เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ส่งผลให้ประชาชนออกมาประท้วงแสดงจุดยืนต่อต้านการกระทำดังกล่าว ท่ามกลางความกังวลขององค์การสหประชาชาติและหลายประเทศทั่วโลกต่อความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงและยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้ สภาวะโกลาหลนี้ไม่เพียงส่งผลต่อสันติภาพภายในประเทศเท่านั้น แต่อาจทำให้แผนการพัฒนาเมียนมาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่วางเอาไว้หยุดชะงักลงไปด้วย
SDGs ในเมียนมาเป็นอย่างไร
จากการจัดอันดับ SDG Index 2020 เมียนมาอยู่ในอันดับที่ 104 จาก 193 ประเทศ จากเดิมปี 2019 อยู่อันดับที่ 110 สูงขึ้น 6 อันดับ มีคะแนนอยู่ที่ 64.6 คะแนน จากปี 2019 อยู่ที่ 62.2 คะแนน แม้ว่าคะแนนจะยังต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 67.2 คะแนน แต่ก็สะท้อนให้เห็นความพยายามของเมียนมาได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากเมียนมายังอยู่ในสถานะประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries: LDCs) ขาดความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรบุคคล โครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณในการสนับสนุนการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs อีกทั้งยังมีข้อมูลตัวชี้วัดอีกหลายประเด็นที่เมียนมาไม่มีข้อมูลสำหรับการรายงาน
สำหรับสถานการณ์ในเชิงประเด็นข้อมูลจาก SDG Dashboard 2020 พบว่าสถานะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเมียนมาส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่มีความท้าทายสูง (สีแดง) กล่าวคืออยู่ในสถานการณ์ที่รุนแรง และต้องดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน โดยมีประเด็นได้แก่ ประเด็นด้านสุขภาพ การศึกษา การเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาล การมีพลังงานสะอาดในราคาที่เข้าถึงได้ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงานที่มีคุณค่า โครงสร้างพื้นฐานวิจัยและนวัตกรรม เมืองยั่งยืน และการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ ขณะที่เป้าหมาย ที่รุนแรงรองลงมา แต่ยังต้องให้ความสำคัญ (สีส้ม) ได้แก่ ความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร ความเท่าเทียมทางเพศ ความเหลื่อมล้ำ ระบบนิเวศทางทะเล เศรษฐกิจสีน้ำเงิน การจัดการที่ดิน ความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าไม้ พันธุ์สัตว์ และประเด็นเกี่ยวกับสันติภาพ สังคมที่สงบสุข สถาบันทางสังคมโปร่งใส มีประสิทธิภาพ
ส่วนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเมียนมานั้นมีความท้าทายในระดับหนึ่ง (สีเหลือง) แต่นับว่ารุนแรงน้อยกว่าเป้าหมายอื่น ๆ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากขนาดอุตสาหกรรมในประเทศยังไม่เติบโตเต็มที่จึงยังมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย ขณะที่SDG เป้าหมายเดียวที่เมียนมาบรรลุแล้ว (สีเขียว)คือ SDG 12 การส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน
แนวโน้มความก้าวหน้าแต่ละเป้าหมายเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในระดับที่กำลังปรับปรุงทิศทางการขับเคลื่อน (ลูกศรสีเหลือง) ให้มุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อยกระดับความก้าวหน้ามุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย (ลูกศรสีเขียว) ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบันเมียนมามีความก้าวหน้าในการดำเนินการ (ลูกศรสีเขียว) ในเป้าหมายเกี่ยวกับการยุติความยากจน การศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนเป้าหมายที่ยังไม่มีความคืบหน้า (ลูกศรสีส้ม) ได้แก่ ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ การจัดการที่ดิน ความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าไม้ พันธุ์สัตว์ และประเด็นเกี่ยวกับสันติภาพ สังคมที่สงบสุข สถาบันทางสังคมโปร่งใส มีประสิทธิภาพ สำหรับเป้าหมายที่มีสถานะถดถอยจากเดิม (ลูกศรสีแดง) คือ การสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
รู้จักแผนขับเคลื่อน SDGs เมียนมา
ภายหลังการประกาศวาระแห่งสหประชาชาติ 2030 (The 2030 Agenda ) 3 ปี เมียนมาก็ได้นำเอากรอบแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ไปปรับเป็นแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศออกมาเป็น “The Myanmar Sustainable Development Plan (2018 – 2030): MSDP” ซึ่งรัฐบาลเมียนมาในขณะนั้นประกาศว่า แผนฉบับนี้ถือเป็นการแสดงออกถึงวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศของเมียนมาให้สอดรับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก ใจความตอนหนึ่งได้กล่าวถึงความสำคัญของแผนนี้ว่า “การพัฒนาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในเมียนมาได้ก็ต่อเมื่อแผนทั้งหมดดำเนินไปอย่างกลมกลืนและสอดคล้องกันภายใต้หลักยุทธศาสตร์ชาติอันเดียวกันนี้” รัฐบาลมองว่าแผน MSDP นเป็นกรอบภาพรวมเพื่อเป็นกลไกทให้เกิดการประสานงานและความร่วมมือในทุกกระทรวง ทั่วทั้ง 7 รัฐ (states) และ 7 เขต (regions)สร้างเส้นทางสู่ความเจริญรุ่งเรือง สงบสุข และเป็นประชาธิปไตยในเมียนมา โดยมีเป้าหมายสำคัญ 5 ประการ ได้แก่
- การสร้างสันติภาพ ความปลอดภัยระดับชาติ และการปกครองที่ดีมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล
- การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจมหภาค
- การจ้างงานและการส่งเสริมการเติบโตของภาคเอกชน
- ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่ 21
- ส่งเสริมการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลัง
เป้าหมายทั้ง 5 ถูกจัดอยู่ภายใต้สามเสาหลัก ได้แก่ (1) สันติภาพและความยั่งยืน (2) ความมั่งคั่งและหุ้นส่วนความร่วมมือ (3) สังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ในแต่ละเป้าหมายยังได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ แผนการดำเนินงาน หน่วยงานผู้รับผิดชอบ รวมถึงระบุความเชื่อมโยงกับ SDGs ลงไปในระดับเป้าหมายย่อย (Target) การผนวกเอา SDGs เข้าไปอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติสะท้อนถึงความพยายามและการให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศให้มุ่งไปในทิศทางเดียวกันกับเจตจำนงของประชาคมโลก
ประเด็นนี้มีนัยสำคัญสำหรับเมียนมา เนื่องจากหากพิจารณาถึงบริบทการเปลี่ยนผ่านอำนาจภายในประเทศแล้วจะเห็นว่า ภายหลังการปฏิรูปการเมือง และการปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ในปี 2553 (2010) จนนำมาสู่การเลือกตั้งทั่วไปใน 2558 (2015) ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ในรอบ 53 ปี (ไม่นับการเลือกตั้งซ่อมในปี 2555) นับเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ตามมาด้วยการปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายที่เป็นไปในลักษณะ ‘เปิดกว้าง’โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการผ่อนปรนเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อส่งสัญญาณให้โลกภายนอกทราบว่าเมียนมาไม่ใช่ ‘ประเทศปิด’ อีกต่อไป ดังนั้น การที่เมียนมาผนวกเอา SDGs เข้ามาเป็นกรอบแนวคิดหลักในการจัดทำแผนพัฒนาประเทศในปี 2561 (2018) ย่อมเป็นการสื่อสารต่อประชาคมโลกว่าเมียนมาพยายามปฏิรูปประเทศ เปลี่ยนผ่านแนวนโยบายให้มีความเป็นสากล เพื่อให้ได้รับการยอมรับ ในฐานะประชาคมโลกที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และอาจเป็นการปูทางสู่การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้นในระยะยาว
รัฐประหารส่งผลอย่างไรต่อ SDGs ในเมียนมา
แม้รัฐธรรมนูญของเมียนมาจะเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจทางทหารเข้าควบคุม หรือยุติการทำหน้าที่ของรัฐบาลและสามารถเข้าควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินได้เป็นระยะเวลา 1 ปี แต่การที่มีประชาชนแสดงจุดยืนต่อต้านประกอบกับการโต้กลับด้วยความรุนแรงของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ จนองค์การสหประชาชาติ และหลายประเทศต้องออกแถลงการณ์ประณาม รวมถึงมีมาตรการคว่ำบาตรเพื่อกดดันให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐหยุดใช้กำลังต่อประชาชน เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเมียนมากำลังอยู่ในสภาวะไม่ปกติ ทางการเมือง เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีข้อสังเกตอย่างน้อย 4 ประการ ดังนี้
01 ทำให้แผนที่วางไว้หยุดชะงักลงอย่างน้อย 1 ปี
ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่าเมียนมามีแผน MSDP ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ ‘กรอบภาพรวม’ ในการพัฒนาประเทศระยะยาวโดยจะเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2018 และสิ้นสุดปี 2030 ซึ่งการที่เมียนมาอยู่ในสภาวะไม่ปกติโดยที่รัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบายยังมุ่งปราบปรามประชาชนที่ต่อต้าน และไม่มีทีท่าจะยุติลงในเร็ววันนี้ ย่อมทำให้การดำเนินนโยบายด้านอื่น ๆ ถูกลดความสำคัญลงโดยปริยาย หากไม่มีปัจจัยอื่นเข้ามาเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ก็อาจทำให้แผนงานทั้งหมดชะลอลงอย่างน้อย 1 ปี จนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ทั้งนี้ ในเชิงผลกระทบต่อความก้าวหน้า การที่การดำเนินงานขาดความต่อเนื่องมิได้ส่งผลเพียงทำให้ความก้าวหน้า SDGs ชะงักหรือหยุดอยู่ ณ สถานะเดิม แต่อาจทำให้สถานะการดำเนินงานถดถอยลงด้วย เนื่องจากมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อ SDGs เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาข้างต้นในหลายมิติ ซึ่งจะส่งผลต่ออันดับ และคะแนนความยั่งยืน SDG Index ในปีถัดไปด้วย
02 สันติภาพภายในประเทศยิ่งห่างไกลออกไป
เมียนมาประสบปัญหาความขัดแย้งภายในทั้งปัญหาชาติพันธุ์ กลุ่มอำนาจต่าง ๆ อยู่เป็นทุนเดิม การใช้อำนาจทางทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มีจากการเลือกตั้งยิ่งเป็นการเพิ่มปัจจัยที่จะทำให้คู่ขัดแย้งในสังคมมีมากขึ้น และการใช้กำลังทางทหารเข้าปราบปรามก็จะยิ่งทำให้โอกาสในการสร้างพื้นที่การเจรจาหาทางออกโดยสันติวิธีในทุกความขัดแย้งเป็นไปได้ยากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลกระทบทางลบต่อ SDG 16 ในหลายเป้าหมายย่อย (Target) โดยเฉพาะ เป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบ 16.3 ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ 16.6 พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผลมีความรับผิดชอบและโปร่งใสในทุกระดับ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วมและมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
03 ผลร้ายตกแก่เศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นต่อการลงทุน
ข้อมูลจาก IMF ที่คาดการณ์การเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ของแต่ละประเทศในแต่ละปีแสดงให้เห็นว่าภายหลังจากที่ GDP ของเมียนมาลดต่ำลงไปอยู่ที่ 1.99% อันเป็นผลมาจากผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 เช่นเดียวกับที่ทั่วโลกเผชิญ คาดว่าเมียนมาจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ 5.65% ในปี 2021 นี้ หากแต่การคาดการณ์นี้เป็นการประเมินก่อนที่จะมีการรัฐประหาร ประกอบกับที่หลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และประเทศในสหภาพยุโรป เริ่มออกมาตรการคว่ำบาตรการเดินทาง การเข้าถึงบัญชีทรัพย์สิน รวมไปถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่งประกาศยุติการลงทุนในเมียนมาจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ ทั้งหมดล้วนส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจในเมียนมา เมื่อผนวกรวมกับการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเป็นปัจจัยส่งผลโดยตรงต่อ SDG 8 ความมั่งคั่งด้านเศรษฐกิจและการจ้างงาน ที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่และรายได้ของประชาชนในระยะยาว
04 ลดทอนโอกาสสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ
การใช้มาตรการที่รุนแรงต่อประชาชนอย่างต่อเนื่องทำให้หลายประเทศยกระดับการใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจ และเพิ่มการโดดเดี่ยวต่อเมียนมาดังที่นางคริสติน ชราเนอร์ บัวร์เกอเนอร์ ทูตพิเศษด้านกิจการเมียนมาของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) กล่าวกับพล.อ.โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรองประธานคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐของเมียนมา ทว่าสถานการณ์อาจยิ่งรุนแรงมากขึ้นเมื่อผู้นำทหารของเมียนมาร์มีท่าทีเพิกเฉยต่อคำเตือนดังกล่าว อีกทั้งยังกล่าวว่า “คุ้นชินกับการคว่ำบาตร และเอาตัวรอดได้เสมอ” พร้อมกับยืนยันที่จะใช้ ความรุนแรงต่อประชาชนต่อไป ทัศนะเช่นนี้ย่อมทำให้ความเชื่อมโยงในฐานะหุ้นส่วนความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นไปได้ยากยิ่ง ซึ่งจะส่งผลให้ความก้าวหน้าของ SDG 17 ที่อยู่ในภาวะย่ำแย่อยู่แล้วและเป็นเป้าหมายเดียวที่ถดถอย (สีแดง) ถดถอยลงไปยิ่งกว่าเดิม
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้นโดยพิจารณาจากข้อมูลในอดีต และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น ในระยะยาว SDGs ในเมียนมาจะขยับไปในทิศทางใด จะสามารถกลับมาดำเนินการตามแผนที่วางเอาไว้ได้หรือไม่ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
อ้างอิง
Myanmar Sustainable Development Plan,https://themimu.info/sites/themimu.info/files/documents/Core_Doc_
Myanmar_Sustainable_Development_Plan_2018_-_2030_Aug2018.pdf
IMF,World Economic Outlook Database October 2020:Myanmar,https://www.statista.com/statistics/525748/
gross-domestic-product-gdp-growth-rate-in-myanmar
Sustainable Development Report: Myanmar, https://dashboards.sdgindex.org/profiles/MMR.
Last Updated on มีนาคม 11, 2021