ผลการศึกษาจาก Council on Energy, Environment, and Water (CEEW) แสดงให้เห็นว่า เกือบครึ่งหนึ่งของครัวเรือนที่มีฐานะยากจนในสลัมเขตเมืองประเทศอินเดีย ยังคงใช้แหล่งเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม คือ ไม้และถ่าน ในการทำอาหารในบ้าน
การใช้แหล่งเชื้อเพลิงเช่นนี้ ทำให้ผู้หญิงและเด็กซึ่งเป็นคนที่ใช้ชีวิตในบ้านเป็นหลัก ต้องเผชิญกับฝุ่นละอองในระดับสูงทั้งสองทาง คือ จากมลพิษทางอากาศในเมือง และมลพิษในครัวเรือนจากเชื้อเพลิงที่ใช้ทำอาหารแบบดั้งเดิม งานวิจัยด้านสุขภาพหลายชิ้นในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุหลักของปัญหาสุขภาพหลายประการ ตั้งแต่โรคที่เกี่ยวข้องกับปอดและทางเดินหายใจไปจนถึงภาวะแทรกซ้อนในระบบสืบพันธ์
ผลการศึกษามากจากการสำรวจในปี 2020 ครอบคลุม สลัมในเขตเมือง 83 แห่ง ใน 6 เขตของประเทศอินเดีย ระบุว่า การใช้ก๊าซหุงต้ม (Liquefied Petroleum Gas: LPG) ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจและการขนส่งถังก๊าซถึงบ้านเป็นหลัก การขนส่งถังก๊าซไม่สามารถไปส่งได้ถึงหน้าบ้านของครัวเรือนที่ถูกสำรวจ 37% นั่นแปลว่า สมาชิกในครัวเรือนที่เป็นผู้ชายคนหนึ่งจะต้องเสียเวลาและเสียค่าแรงหนึ่งวันเพื่อเดินทางไปรับถังก๊าซด้วยตนเอง
นักวิจัยยังค้นพบว่า ประมาณ 12% ของเครัวเรือนที่ถูกสำรวจ พึ่งพาเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษอย่างเดียว แม้เทรนด์ในการเปลี่ยนมาใช้ก๊าซหุงต้ม 2011 แต่กว่าหนึ่งในสามของครัวเรือนยังคงใช้ก๊าซ LPG ควบคู่ไปกับเชื้อเพลิงที่สร้างมลพิษอื่นๆ เช่น ฟืน ก้อนมูลสัตว์ ซากพืชจากการเกษตร ถ่าน และน้ำมันก๊าด การใช้แหล่งเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมนั้นถูกกว่า และจะถูกใช้มากขึ้นในฤดูหนาวสำหรับกิจกรรมในเครัวเรือนนอกเหนือจากการทำอาหาร เช่น ให้ความอบอุ่นในบ้านและการต้มน้ำร้อนเพื่ออาบ ดังที่ทราบว่า มลพิษทางอากาศเพิ่มสูงขึ้นในฤดูหนาว โดยมีสาเหตุหนึ่งมาจากการใช้พลังงานภายในอาคารที่สูงขึ้น
นักวิจัยแนะนำว่า เพื่อเพิ่มการใช้งานของก๊าซหุงต้มในครัวเรือน รัฐบาลต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าถึงครัวเรือนในสลัมเขตเมือง สร้างความรับรู้ให้ประชาชนถึงประโยชน์ของก๊าซ LPG และโทษของเชื้อเพลิงแบบเดิม บูรณาการแผนการใช้พลังงานสะอาดกับแผนการดำเนินงานพัฒนาสังคมด้านอื่นๆ เช่น ด้านสุขภาพ โภชนาการ และการศึกษา รวมทั้งยังแนะนำบริษัทน้ำมันและก๊าซหุงต้มให้เพิ่มแรงจูงใจแก่ผู้จัดจำหน่ายที่กระจายการขนส่งไปยังครัวเรือนยากจนในเมืองด้วยการให้ค่าคอมมิชชั่นที่สูงขึ้น เป็นต้น
การใช้เชื้อเพลิงทำอาหารแบบดั้งเดิม เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย
----- เป้าประสงค์ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2030
- เป้าหมายที่ 7 สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน
------ เป้าประสงค์ 3.1 สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2030
- เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน
----- เป้าประสงค์ 11.6 ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอื่นๆ ภายในปี 2030
ที่มา: https://theswaddle.com/45-of-urban-poor-households-still-use-traditional-fuels-over-lpg-cylinders/
Last Updated on มีนาคม 12, 2021