ชาวประมงรายย่อยมีสัดส่วนประมาณ 90% ของชาวประมงและแรงงานจับปลาทั่วโลก ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลงและการจับสัตว์น้ำเกินขนาด (overfishing) กำลังคุกคามวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่ง หลายประเทศจึงมีการพัฒนา AI และ แอปพลิเคชันมือถือที่สามารถติดตามการประมง ซึ่งจะช่วยให้วิถีชีวิตชาวประมงรายย่อยมีความยั่งยืนมากขึ้นและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
Environmental Defense Fund (EDF) องค์กรไม่หวังผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อม เปิดตัวเว็บไซต์ Small-Scale Fisheries Resource and Collaboration Hub (SSF Hub) เมื่อเดือนมกราคม 2021 โดยมีเป้าหมายให้เป็นจุดศูนย์รวมระหว่างชุมชนชาวประมงและเครือข่ายผู้ทำงานสนับสนุนการประมง ในการแชร์ไอเดียและร่วมมือกันหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กำลังเผชิญอยู่
เว็บไซต์รวบรวมคลังข้อมูลที่ชาวประมงสามารถค้นหาหัวข้อที่ตนสนใจ มีหลักสูตรออนไลน์ให้ศึกษาฟรี มีฟอรัมเพื่อพูดคุย บล็อก และหน้ากิจกรรมต่างๆ โดยหน้าหลักเว็บไซต์ครอบคลุมถึง 20 ภาษา ถึงแม้ว่าจะต้องใช้สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์เพื่อเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งมักจะไม่สะดวกนักในพื้นที่ชายฝั่ง แต่เว็บไซต์ SSF Hub นี้ใช้อินเตอร์เน็ตและดาต้าเพื่อเข้าถึงต่ำ และทาง EDF ก็กำลังหาวิธีเพื่อให้ผู้ใช้เข้าดูข้อมูลบนเว็บไซต์ได้แบบออฟไลน์
EDF ยังมีโครงการนำร่องในจังหวัดลัมปุง บนเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ที่ใช้แอปพลิเคชันเพื่อบันทึกและติดตามการประมงปูม้าให้มีความยั่งยืนมากขึ้น
ในไต้หวัน มีคำสั่งให้เรือประมงขนาดเล็กทุกลำต้องติดตั้ง GPS ตั้งแต่ปี 2007 เพื่อเก็บข้อมูลตำแหน่ง ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ อุปกรณ์ที่ใช้ และการประมูลสัตว์น้ำไปยังหน่วยงานรัฐ การติดตามนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อประเมินสภาพการประมง วิถีชีวิตของชาวประมงและความมั่นคงทางอาหาร และช่วยให้รัฐกำหนดนโยบายที่เหมาะสม
ในแอฟริกาใต้ มีการใช้แอปพลิเคชัน ชื่อ Abalobi เพื่อให้ชาวประมงรายย่อยบันทึกการจับสัตว์น้ำ การขาย ค่าใช้จ่ายรายวัน ค้นหาผู้ซื้อและดูกฎระเบียบและประกาศล่าสุดเกี่ยวกับการทำประมง
นายไซมอน ฟันจ์-สมิธ เจ้าหน้าที่การประมงอาวุโส องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สำนักงานภูมิภาคประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า เทคโนโลยีหลายอย่างเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มที่ทำงานสนับสนุนการประมง ชาวประมงและนักวิจัย แต่ยังจำกัดถึงชาวประมงรายย่อย ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ชาวประมงรายย่อยได้
นายโอไฮ มาสุดะ ชาวประมงรายย่อยที่ทำประมงในประเทศเม็กซิโกมานานกว่าสิบปี ต้องเผชิญสถานการณ์ที่น้ำทะเลอุ่นขึ้น ซึ่งส่งผลต่อประเภทสัตว์น้ำที่จับได้ กล่าวว่า SSF Hub ช่วยให้เขาคิดสิ่งใหม่ๆ ได้ แต่ก็ยอมรับว่าการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่จำกัดอาจทำให้ชาวประมงหลายคนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้
การใช้เทคโนโลยี เพื่อการประมงรายย่อย เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) - เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ----- เป้าประสงค์ 14.b จัดให้มีการเข้าถึงทรัพยากรทางทะเลและการตลาดสำหรับชาวประมงพื้นบ้านรายเล็ก - เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ----- เป้าประสงค์ 2.4 สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรมีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัยและภัยพิบัติอื่นๆและจะช่วยพัฒนาที่ดินและคุณภาพดินอย่างต่อเนื่องภายในปี 2030 - เป้าหมายที่ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม
ที่มา: https://news.trust.org/item/20210302091955-i49bw/
Last Updated on มีนาคม 13, 2021