นายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจและหวนระลึกถึงเหตุแผ่นดินไหวและสึนามีในญี่ปุ่นครั้งใหญ่เมื่อ 10 ปีก่อน (11 มีนาคม 2011) ที่มีผู้เสียชีวิต 18,400 คนจากเหตุการณ์นี้ พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ หันมาใส่ใจให้ความสำคัญกับการป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ
รวมไปถึงว่าในช่วงสัปดาห์ก่อนได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวตามแนวชายฝั่งของนิวซีแลนด์รวมทั้งการแจ้งเตือนภัยสึนามิตามหมู่เกาะแปซิฟิก ยิ่งเป็นการส่งสัญญาณชี้ว่าสึนามิยังคงเป็นภัยคุกคามที่ทำให้บริเวณ ‘วงแหวนแห่งไฟ’ (Ring of Fire) เป็นพื้นที่เปราะบาง บวกกับข้อเท็จจริงว่ามีประชากรจำนวน 680 ล้านคนที่อาศัยอยู่เหนือระดับน้ำทะเลต่ำกว่า 10 เมตร และในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาสึนามิได้คร่าชีวิตคนไปแล้วกว่า 260,000 รายในกว่า 50 เหตุการณ์ ย่อมเป็นการตอกย้ำว่าภัยพิบัติจากสึนามิเป็นประเด็นที่ต้องเร่งจัดการ
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นตัวแปรสำคัญที่เข้ามาเป็นเร่งเพิ่มความเสี่ยงให้สึนามิกลายเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปเป็น ‘ภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศ’ (climate emergency) ที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
การป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติจึงเป็นหัวใจสำคัญของชุมชนที่อยู่ในภาวะเปราะบางเช่นนั้น โดยสามารถเรียนรู้จากญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำโลกในด้านการป้องกันภัยพิบัติที่ดำเนินตาม ‘กรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ’ (Sendai Framework for Disaster Risk Reduction) พิมพ์เขียวของการวางแผนรับมือและเตือนภัย พร้อมกับการลงมือทำใน ‘ทศวรรษของสมุทรศาสตร์เพื่อความยั่งยืน‘ (United Nations Decade of Ocean Science for Sustainable Development)
โดยเฉพาะควรคำนึงถึงองค์ประกอบของการพัฒนาระบบการเตือนภัยล่วงหน้า การประเมินความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติ การฝึกเตรียมความพร้อมรับมือระหว่างภาครัฐและชุมชนในพื้นที่เปราะบาง การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมหาสมุทร สภาพภูมิอากาศ และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ให้เกิดพฤติกรรมการปกป้องตัวเองจากภัยพิบัติในภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง รวมไปถึงความรู้เรื่องการอพยพและการมีเส้นทางอพยพไปสู่สถานที่พักพิง เป็นต้น
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อสิ้นสุดทศวรรษ 2573 แล้ว ชุมชนที่เคยเสี่ยงต่อการเกิดสึนามิ จะกลายเป็นชุมชนที่พร้อมรับมือกับสึนามิ”
Dr. Vladimir Ryabinin เลขาฯ ผู้บริหารระดับสูงของคณะกรรมาธิการทางด้านสมุทรศาสตร์ภายใต้องค์การยูเนสโก (UNESCO’s Intergovernmental Oceanographic Commission: IOC)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน
เป้าประสงค์ที่ 11.5 กล่าวถึงการลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติ
เป้าประสงค์ที่ 11.b กล่าวถึงการเพิ่มจำนวนเมืองและกระบวนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่เลือกใช้และดำเนินการตามนโยบายและแผนที่บูรณาการเพื่อนำไปสู่ความครอบคลุม ความมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร การลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีภูมิต้านทางต่อภัยพิบัติ ให้พัฒนาและดำเนินการตามการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติแบบองค์รวมในทุกระดับ ให้เป็นไปตามกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ. 2558 – 2573
#SDG13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
เป้าประสงค์ที่ 13.1 กล่าวถึงการเสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ
เป้าประสงค์ที่ 13.3 กล่าวถึงการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเล
เป้าประสงค์ที่ 14.a กล่าวถึงการเพิ่มความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเลของคณะกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาล
แหล่งอ้างอิง:
https://news.un.org/en/story/2021/03/1086922
https://www.undrr.org/news/call-action-safe-oceans-10th-anniversary-great-east-japan-earthquake-and-tsunami
#SDGWatch #ihpp #SDG11 #SDG13 #SDG14
Last Updated on เมษายน 6, 2021