ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประจำองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ร่วมกับนักวิจัยจากศูนย์วิจัยร่วมของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission’s Joint Research Centre) เผยแพร่การศึกษาที่วิเคราะห์ข้อมูลระหว่างปี 2533 ถึง 2558 ชื่อ ‘Food systems are responsible for a third of global anthropogenic GHG emissions’ ใน Nature Food ชี้ว่าระบบอาหารมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ ที่มากกว่า 2 ใน 3
แล้วระบบอาหารเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร? ระบบอาหารที่ว่านั้นมีตั้งแต่การใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และการผลิตอาหารในภาคการเกษตร อาทิ การใช้ปุ๋ย การปศุสัตว์ ที่ทั้งสามส่วนนี้เป็นส่วนที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซจากระบบอาหารมากที่สุด เพราะทำให้เกิดก๊าซมีเทนที่ทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และเกิดขึ้นทั่วไปในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ขณะที่การค้าปลีก การขนส่งอาหาร การแปรรูปอาหาร การบรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงการทำความเย็น (refrigeration) อย่างในซูเปอร์มาร์เก็ต และการจัดการขยะ ต่างก็ต้องใช้ ‘พลังงาน’ มาก ซึ่งทำให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากไปด้วย
จากข้อมูลพบว่า ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากระบบอาหารทั่วโลกถือว่าลดน้อยลงจาก 44% ในปี 2533 มาที่ 34% หรือประมาณ 18 พันล้านตันในปี 2558 ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศอุตสาหกรรมมีปริมาณการปล่อยก๊าซทรงตัวที่ 24% ประเทศกำลังพัฒนามีการปล่อยก๊าซมากกว่าแต่มีปริมาณการปล่อยก๊าซลดลงจาก 68% ในปี 2533 เป็น 39% ในปี 2558 โดยในภาพรวม ประเทศที่ระบบอาหารปล่อยก๊าซมากที่สุดได้แก่ จีน อินโดนีเซีย สหรัฐฯ บราซิล สหภาพยุโรป และอินเดีย
ทั้งนี้ สิ่งที่เราได้จากการศึกษานี้คือข้อมูลที่จะช่วยนำไปสู่การร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากระบบอาหาร รวมถึงอาจนำไปสู่การปรับหน้าระบบอาหารให้มีความยั่งยืนมากขึ้นด้วย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
เป้าประสงค์ที่ 2.4 กล่าวถึงระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน มีภูมิคุ้มกัน เพิ่มผลิตภาพและการผลิต รักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พัฒนาที่ดินและคุณภาพดิน
#SDG12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
เป้าประสงค์ที่ 12.3 ลดขยะเศษอาหาร ลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว
เป้าประสงค์ที่ 12.4 การจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิต ลดการปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดิน
#SDG13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
แหล่งอ้างอิง:
https://news.un.org/en/story/2021/03/1086822
http://www.fao.org/news/story/en/item/1379373/icode/
https://www.nature.com/articles/s43016-021-00225-9
#SDGWatch #ihpp #SDG2 #SDG12 #SDG13
Last Updated on มีนาคม 14, 2021