ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 วัณโรคเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ของโลก ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก มีผู้เสียชีวิตไปถึง 1.4 ล้านคนในปี 2019 ในขณะที่ระดับโลก ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นวัณโรคมากกว่าผู้หญิง แต่ในประเทศอัฟกานิสถาน ตัวเลขของผู้หญิงที่ป่วยเป็นวัณโรคสูงกว่าผู้ชาย คือ 54% ในขณะที่ตัวเลขระดับโลก อยู่ที่ 38%
วัณโรคเป็นโรคที่มีสาเหตุเกี่ยวพันกับสถานะทางเศรษฐกิจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีฐานะยากจน อาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด อากาศไหวเวียนไม่ดี จึงมีโอกาสติดเชื้อได้มาก เพราะวัณโรคแพร่เชื้อทางอากาศผ่านการไอ ถ่มน้ำลาย และการพูด
นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขยังมีกังวลเป็นพิเศษต่อการดื้อยาที่ใช้รักษาวัณโรคที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ในปี 2019 มีผู้ป่วย 10 ล้านคนทั่วโลกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรค ซึ่งเกือบห้าแสนรายที่มีอาการดื้อยา ในอัฟกานิสถานเองมีผู้ติดเชื้อ 72,000 ราย โดยมีผู้ป่วยดื้อยา 2,400 ราย
ยังไม่มีความชัดเจนว่าเหตุใดผู้หญิงจึงมีความเสี่ยงต่อการติดวัณโรคมากกว่าผู้ชายในประเทศอัฟกานิสถานมากกว่าผู้ชาย แต่ปัจจัยที่เป็นไปได้คือ
- ผู้หญิงมีโอกาสสัมผัสกับแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของวัณโรคมากขึ้น เนื่องจากต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้านท่ามกลางมลพิษทางอากาศที่มาจากการปรุงอาหาร และการขาดสารอาหารทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ในสภาพสังคมที่ผู้หญิงไม่มีอำนาจทางการเงิน จึงเป็นเรื่องยากมากที่พวกเธอจะเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม และเลือกใช้ยาที่ซื้อจากร้านขายยาทั่วไปซึ่งทำให้เกิดการดื้อยาในภายหลัง
- การรักษาวัณโรคต้องใช้เวลาหลายเดือน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำหรับผู้หญิงอัฟกันที่ต้องได้รับอนุญาตจากครอบครัวเพื่อเดินทางหลายร้อยกิโลเมตรไปยังศูนย์บริการด้านสุขภาพเพื่อรักษาวัณโรคโดยเฉพาะ หรือต้องย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้งเนื่องจากความขัดแย้งในพื้นที่ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง
- การตีตราผู้ป่วยวัณโรค ทำให้ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะปกปิดอาการของตนเอง เพราะกลัวการกีดกันทางสังคม จนพลาดการรักษาที่เหมาะสมและทันเวลา
Kamran Siddiqi ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขระดับโลกจากมหาวิทยาลัยยอร์ก สหราชอาณาจักร ซึ่งได้ทำการวิจัยเรื่องเพศและวัณโรคในเอเชียใต้ กล่าวว่า การตรวจสอบหาสาเหตุเบื้องหลังความไม่เท่าเทียมทางเพศในการติดเชื้อวัณโรค เพื่อให้ผู้ให้ทุนและผู้กำหนดนโยบายเห็นความสำคัญ และมีมาตรการที่เหมาะสม
โรควัณโรคในผู้หญิง เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ในเป้าประสงค์ 3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี 2030 และ เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน
Last Updated on มีนาคม 15, 2021