‘รายงานความก้าวหน้า SDGs ในเอเชียและแปซิฟิกปี 2021’ ของ ESCAP ชี้ #SDG13 #SDG14 #SDG16 สามความก้าวหน้าที่เสื่อมถอยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ครบทั้ง 17 เป้าหมายภายในปี 2573 โดยอาจบรรลุเป้าหมายได้น้อยกว่า 10% ของเป้าประสงค์ทั้งหมด 169 เป้าประสงค์ ทั้งนี้ การตอบโต้ต่อวิกฤติโรคระบาดถือว่าเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญต่อความก้าวหน้าเพื่อความยั่งยืน

วันนี้ (16 มีนาคม 2564) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic And Social Commission For Asia And The Pacific: ESCAP แอสแคป) เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าชุดที่ 5 ‘รายงานความก้าวหน้า SDGs ในเอเชียและแปซิฟิก ปี 2021’ (Asia and the Pacific SDG Progress Report 2021) ซึ่งเป็นการประเมินผลการดำเนินงานตามข้อมูลที่ได้จากระบบเก็บและประมวลข้อมูลของ UN ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วย 5 อนุภูมิภาค ได้แก่ เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เอเชียเหนือและเอเชียกลาง เอเชียใต้และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก

เข้าถึงรายงานที่ : Asia and the Pacific SDG Progress Report 2021

โดยเนื้อหามีการกล่าวถึงผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อด้านสุขภาพ การคุ้มครองทางสังคมและการให้บริการพื้นฐาน งานและแรงงาน การกระตุ้นทางการเงินการคลัง ภูมิต้านทานของชุมชนและความเป็นปึกแผ่นทางสังคม รวมถึงต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกันกับที่ได้นำเสนอเครื่องมือ ‘National SDG Tracker’ ให้ประเทศต่าง ๆ นำไปติดตามและทบทวนการพัฒนาที่ยั่งยืนของตนได้แบบ ‘step-by-step’

สำหรับภาพรวมความก้าวหน้าของภูมิภาคนี้ พบว่า ครึ่งหนึ่งของเป้าหมายทั้งหมดยังคงมีความก้าวหน้าที่เป็นไปอย่างช้า โดยการดำเนินงานตาม #SDG1 (ยุติความยากจน) #SDG2 (ยุติความหิวโหย) #SDG4 (การศึกษาที่ครอบคลุมเท่าเทียม) #SDG10 (ลดความไม่เสมอภาค) และ #SDG17 (หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ยังคงช้าเกินไปที่จะบรรลุภายในปี 2573

ขณะที่เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับ ‘สิ่งแวดล้อม’ ยังทำได้ไม่ดีพอนักและเป็นที่น่ากังวล ได้แก่ #SDG13 (การลงมืออย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และ #SDG15 (ระบบนิเวศบนบก ป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพ) นอกจากนี้ เมื่อภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกพึ่งพาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนักหน่วงเข้มข้น ยิ่งส่งผลให้เกิด ‘รอยเท้าวัสดุ’ (material footprint) ที่กระทบกับ #SDG12 (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน) ด้วย

อย่างไรก็ดี เป้าหมาย SDGs ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ได้แก่ #SDG3 (สุขภาพและสุขภาวะที่ดี) และ #SDG9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทาน ครอบคลุม ยั่งยืน)

โดยเมื่อมองเจาะเข้ามาที่อนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว จะพบว่า

  • มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญใน #SDG1 #SDG2 #SDG3 #SDG4 #SDG6 (น้ำดื่มและสุขาภิบาล) และ #SDG9
  • ขณะที่ #SDG7 (พลังงานที่สามารถซื้อหาได้และยั่งยืน) #SDG11 (เมืองและที่อยู่อาศัยปลอดภัยและทั่วถึง) #SDG12 (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน) และ #SDG15 ล้วนมีความก้าวหน้าที่เป็นไปอย่างช้า
  • และ #SDG17 เองก็ยังทำได้ไม่เพียงพอ
  • โดยสิ่งที่เป็นที่น่าห่วงกังวลสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเป็นความก้าวหน้าในลักษณะที่เสื่อมถอยลง ได้แก่ #SDG13 #SDG14 (มหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล) และ #SDG16 (สังคมที่สงบสุข ครอบคลุม มีส่วนร่วม มีความยุติธรรม สถาบันมีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ)

แหล่งอ้างอิง:
https://reliefweb.int/report/world/asia-and-pacific-sdg-progress-report-2021
https://www.unescap.org/kp/2021/asia-and-pacific-sdg-progress-report-2021

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น