บริษัทผลิตตู้เย็น เครื่องซักผ้า ไดร์เป่าผม หรือ โทรทัศน์ในยุโรป ต้องทำให้แน่ใจว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าของพวกเขาสามารถซ่อมแซมได้ภายในระยะ 10 ปีของการใช้งาน เพื่อจำนวนขยะจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในทุกๆ ปี
สิทธิในการซ่อม (Right to Repair) มีผลบังคับใช้ใน 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2021 หลังจากผ่านการรับรองตั้งแต่ปี 2019 กฎหมายใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของสินค้าที่ผลิต โดยการทำให้สินค้ามีความทนทาน ใช้งานได้นานขึ้น และประหยัดพลังงานมากขึ้น
เครื่องใช้ไฟฟ้าสมัยใหม่มักประกอบด้วยการยึดติดถาวรจนไม่สามารถแกะออกเพื่อซ่อมได้ อีกทั้งผู้บริโภคยังเจอปัญหาไม่สามารถหาอะไหล่เพื่อซ่อมแซมได้ และเข้าไม่ถึงคู่มือการซ่อมแซมผลิตภัณฑ์ ต้องส่งซ่อมโดยตรงกับผู้ผลิตเท่านั้น ซึ่งอาจใช้เวลานานและค่าใช้จ่ายสูง จึงเป็นการบังคับโดยกลายให้ผู้บริโภคต้องซื้อเครื่องใหม่ ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ บริษัทผู้ผลิตจะต้องมีชิ้นส่วนหรืออะไหล่ของเครื่องใช้ไฟฟ้าสำรองไว้ถึง 10 ปี เพื่อให้ผู้บริโภคมีสิทธิซ่อมสินค้าด้วยทางเลือกของตนเอง
นอกจากนี้ อุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขายหลังจากกฎหมายใหม่บังคับใช้ ต้องมาพร้อมกับคู่มือการซ่อมสินค้า และต้องผลิตมาในลักษณะที่ถอดชิ้นส่วนได้โดยใช้เครื่องมือทั่วไปเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายในกรณีที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้แล้ว
ในแต่ละปี ประชากรในสหภาพยุโรปผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 16 กิโลกรัมต่อคน ครึ่งหนึ่งของขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวคือเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ชำรุด ซึ่งสามารถรีไซเคิลได้เพียง 40% ของปริมาณทั้งหมดเท่านั้น
ในขั้นต่อไป นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลุ่มปกป้องสิทธิผู้บริโภคต้องการให้ สิทธิในการซ่อม ครอบคลุมถึงสมาร์ทโฟน แล็ปท็อป และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กอื่นๆ
สิทธิในการซ่อมแซมได้รับการรองรับในสภานิติบัญญัติของหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคทั้งสองฝ่าย แม้ว่าจะยังไม่มีการบังคับใช้ทั่วประเทศก็ตาม
สวีเดนนำหน้ากว่าสหภาพยุโรปในการบังคับใช้กฎหมายนี้ โดยการลดภาษีมูลค่าเพิ่มของการซ่อมแซมและอะไหล่สินค้าด้วย
สิทธิในการซ่อม เพื่อยืดอายุการใช้งานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
ที่มา: AP News