เทรนด์การบริโภคอาหารที่มาจากพืชเป็นหลัก หรือ Plant-Based Diet ที่ได้รับความสนใจในคนหมู่มากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งจากผู้บริโภคสายรักสุขภาพ ที่หลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ อีกกลุ่มหนึ่งคือผู้บริโภคที่มีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะอาหารที่มาจากพืชเป็นหลักเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่าและช่วยลดโลกร้อนได้ แต่นอกจากจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว การเปลี่ยนมาบริโภคอาหารที่มาจากพืชสามารถช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ได้ด้วย
ตามรายงานฉบับใหม่จาก Chatham House เสนอว่า การเปลี่ยนมาบริโภคอาหารที่มาจากพืช (Plant-based Diet) เป็นความพยายามที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้เพื่อรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รายงาน Food System Impacts on Biodiversity Loss จากสถาบันนโยบาย Chatham House สหราชอาณาจักร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก UN Environment Programme (UNEP) และ Compassion in World Farming นำเสนอ 3 คานงัด หรือ 3 การดำเนินการที่จำเป็นเพื่อปฏิรูประบบอาหารเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการเปลี่ยนแปลงข้อแรกที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดคือ ความจำเป็นในการ “เปลี่ยนรูปแบบการบริโภคอาหารเพื่อลดความต้องการอาหารและส่งเสริมให้บริโภคอาหารที่มาจากพืชมากขึ้น”
ระบบอาหารที่ทำร้ายความหลากหลายทางชีวภาพ
ในเวลา 50 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนระบบนิเวศตามธรรมชาติเพื่อเป็นพื้นที่ทางการเกษตรหรือเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์เป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียที่อยู่อาศัยของสัตว์และหมายถึงการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ดินที่ถูกใช้เพื่อเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 5.5 เท่า ตั้งแต่ปี 1600 และยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตอาหารกินพื้นที่ถึง 50% ของพื้นที่ที่อยู่อาศัยโลก
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน นั่นแปลว่าแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายไป เฉพาะการทำเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวถูกระบุว่าเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ป่า 24,000 สปีชีส์ จากทั้งหมด 28,000 สปีชีส์ที่ขึ้นทะเบียนเสี่ยงต่อการสูญพันธ์โดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN (International Union for Conservation of Nature) ซึ่งอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั่วโลกในทุกวันนี้ สูงกว่าอัตราเฉลี่ยในช่วง 10 ล้านปีที่ผ่านมา
อาหารที่ต้องราคาถูกลงเรื่อยๆ คือรากลึกของปัญหา
หลักการที่ว่า “เราต้องผลิตอาหารให้มากขึ้นและทำด้วยต้นทุนที่ต่ำลง หากเราต้องการเลี้ยงดูประชากรทั่วโลกและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ” กลายเป็นสิ่งสำคัญกว่าสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยมีการลงทุนเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตอาหารให้มีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เข้มข้นผ่านการเปิดเสรีทางการค้าเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนของระบบอาหารของโลกปัจจุบัน เพื่อให้ได้อาหารที่ราคาถูกในปริมาณมาก โดยที่ราคาของผลกระทบภายนอกที่เกิดจากกระบวนการผลิตอาหารต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เคยถูกนับรวมเข้าไปเป็นต้นทุนที่แท้จริงของการผลิตอาหารเลย
ระบบอาหารในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาขับเคลื่อนด้วยกระบวนทัศน์ “อาหารที่ถูกลง” (cheaper food paradigm) ความพยายามลดราคาอาหารให้ถูกลงด้วยนโยบายและโครงสร้างทางเศรษฐกิจต่างๆ ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นเพราะช่วยให้ประชากร โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ เข้าถึงอาหารได้มากขึ้นและลดค่าใช้จ่ายในบ้านส่วนที่เป็นค่าอาหารลงทำให้เหลือเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วย แต่จากมุมมองด้านสุขภาพโลกแล้ว สิ่งนี้นำไปสู่วงจรอุบาทว์ของระบบอาหาร นั่นคือ เมื่อต้นทุนอาหารต่ำลงก็ทำให้เกิดความต้องการมากขึ้น จึงต้องผลิตอาหารให้ทันความต้องการและการแข่งขันของตลาด ซึ่งอาหารเหล่านั้นจะต้องมาจากกระบวนการผลิตอาหารที่ใช้ต้นทุนต่ำลงไปอีก ด้วยการทำการเกษตรอย่างเข้มข้นและการใช้ที่ดินเพื่อเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์มากขึ้น
การผลิตทางการเกษตรที่เข้มข้นขึ้น เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อพื้นที่มากสุด จำเป็นต้องเพิ่มปัจจัยการผลิตที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเช่น ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ดินและระบบนิเวศเสื่อมโทรมลง ทำให้ศักยภาพการผลิตของที่ดินลดลง แต่เมื่อจำเป็นต้องมีการผลิตอาหารเร่งให้ทันกับความต้องการ ก็ต้องทำการเกษตรแบบที่เข้มข้นขึ้นไปอีก ซึ่งทำให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นสูงและรวดเร็ว
ระบบอาหารที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
ผลกระทบของการผลิตอาหารมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ไม่ได้เพียงลดความหลากหลายทางชีวภาพโลกลงไป แต่ยังเป็นสาเหตุหลักอีกประการของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะระบบอาหารทั่วโลกมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas: GHG) ถึง 30% จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมด โดยการปล่อยก๊าซฯ ในระบบอาหารมาจาก (1) การทำเกษตร (2) การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (3) การแปรรูปและการขนส่งอาหาร
3 คานงัด ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้
หากไม่มีการปฏิรูประบบอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพจะถูกทำลายลงไปอย่างรวดเร็ว การทำลายระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์จะกลับมาเป็นภัยคุกคามต่อความสามารถในการดำรงชีวิตของประชากรโลกเอง ดังนั้น เพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบอาหารต้องอาศัยการดำเนินการเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 คานงัดนี้
– 1 – เปลี่ยนมาบริโภคอาหารส่วนใหญ่ที่มาจากพืช
ประชากรโลกต้องเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคอาหาร จากเน้นเนื้อสัตว์ เป็นอาหารที่มาจากพืชเป็นหลัก เพื่อลดความต้องการและการใช้พื้นที่เพื่อผลิตอาหาร สาเหตุหลักคือผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ต่อการใช้ที่ดินและสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการผลิตอาหารประเภทเนื้อสัตว์นั้น สูงกว่าอาหารที่มาจากพืชมาก
ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการบริโภคเพื่อออกแบบระบบอาหารใหม่ มาจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ
- เราผลิตอาหารเกินกว่าความต้องการต่อคน (per capita) ในระดับโลก มีอาหารมากถึงหนึ่งในที่กลายเป็นขยะอาหาร มีน้ำหนักประมาณ 1.3 พันล้านตัน ไม่ว่าจะทั้งจากการเพาะปลูก ระหว่างขนส่ง ผ่านการแปรรูป หรือจากการขายและการบริโภค
- ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ environmental footprint ของอาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ที่ดิน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้น้ำและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ มีความแตกต่างกันอย่างมากในอาหารแต่ละประเภท โดยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการผลิตอาหารที่มาจากพืชน้อยกว่าอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์มาก
- ความต้องอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เช่น เนื้อสัตว์ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก โดยแนวโน้มนี้ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางโภชนาการ เมื่อราคาเนื้อสัตว์ถูกลง จึงเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างกว้างขวางขึ้น
– 2 – สงวนที่ดินไว้เพื่อประโยชน์ทางธรรมชาติ
การจัดสรรพื้นที่เป็นพิเศษเพื่อการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนถิ่นที่อยู่อาศัยและสัตว์ป่า แม้แต่ในพื้นที่ทีมีการทำฟาร์มอย่างเป็นมิตรต่อสัตว์ป่าก็ต้องการการปรับเปลี่ยนพื้นที่ธรรมชาติ การปกป้องที่ดินจากการเปลี่ยนแปลงหรือการตักตวงผลประโยชน์เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เราจึงต้องหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินไปเพื่อทำเกษตรกรรม หรือฟื้นฟูระบบนิเวศตามธรรมชาติจากพื้นที่ที่การทำฟาร์มเดิม ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ
– 3 – ทำฟาร์มด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ
เราต้องเปลี่ยนวิธีในการทำฟาร์มให้เป็นมิตรต่อธรรมชาติมากขึ้น และสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น โดยการจำกัดปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง พลังงาน ที่ดิน และน้ำ และแทนที่การเกษตรเชิงเดี่ยวด้วยการเกษตรเชิงผสมผสาน
การเปลี่ยนแปลงทั้งสามจุดนี้ต่างต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสงวนที่ดินไว้เพื่อประโยชน์ทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนรูปแบบการทำฟาร์มที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ทั้งสองสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับการความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคมาสู่อาหารที่มาจากพืชเป็นหลัก เพราะหากความต้องการอาหารที่มาจากสัตว์ยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นแรงกดดันให้เกิดการผลิตอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้ทันกับความต้องการทั่วโลก ความสำเร็จในการปฏิรูประบบอาหารเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพก็ยิ่งเป็นไปได้ยาก
2021 ปีแห่งโอกาสสร้างความร่วมมือระดับโลกเพื่อการปฏิรูประบบอาหาร
ในปี 2021 เลขาธิการสหประชาชาติจะจัดการประชุมสุดยอดระบบอาหารของสหประชาชาติ (UN Food Systems Summit: UNFSS) เป็นครั้งแรกของโลก เพื่อสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นในการปฏิรูประบบอาหาร ปรับปรุงความมั่นคงด้านโภชนาการ สาธารณสุข และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม นี่จะเป็นโอกาสอันดีในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของระบบอาหารโลกและประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพไปพร้อมๆ กัน
เพื่อฟื้นฟูโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี รัฐบาลทั่วโลกจะเพิ่มเพดานการลงทุนในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ความพยายามให้มีการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจที่อยู่บนหลักการ “ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” หรือ Green Recovery จะทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความยั่งยืน ความเสมอภาค และความยืดหยุ่นและฟื้นกลับจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการกำหนดนโยบายที่ให้ความสำคัญทั้งสุขภาพประชาชนและสุขภาพของโลกอย่างเท่าเทียมกัน
ระบบอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนา (SDGs) ในเป้าหมายต่อไปนี้ - SDG 2 ขจัดความหิวโหย ในประเด็น เกษตรกรรมที่ยั่งยืนและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยพัฒนาคุณภาพดินได้ (2.4) - SDG 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล ในประเด็น มลพิษทางน้ำและการบำบัดน้ำเสีย (6.3) และการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง (6.6) - SDG 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ ในประเด็น การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (7.3) - SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ในประเด็น การจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน (12.2), การลดของเสียที่เป็นอาหาร (food waste) (12.3), และ ลดการปล่อยสารเคมีและของเสียเป็นพิษออกสู่ธรรมชาติและจัดการอย่างถูกต้อง (12.4) - SDG 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็น มาตรการการลดก๊าซเรือนกระจก (13.2) - SDG 14 ทรัพยากรทางทะเล ในประเด็น การบริหารจัดการ อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง (14.2) และเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งให้ได้ร้อยละ 10 (14.5) - SDG 15 ระบบนิเวศบนบก ในประเด็น การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินและการใช้บริการทางระบบนิเวศนั้นอย่างยั่งยืน (15.1) การบริหารจัดการ อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ทุกประเภท (15.2) การอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพ (15.4), ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ - มีการแบ่งปันผลประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม (15.6) ลดความเสือมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของสัตว์ต่าง ๆ (15.5) ด้านที่เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจ - บูรณาการมูลค่าของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปในกระบวนการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศในการลดความยากจน และบัญชีด้านเศรษฐกิจ (15.9) การระดมทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลายมาเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (15.a) ระบบนิเวศบนบก ป่าไม้ และน้ำจืด (15.b) - SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แปลและเรียบเรียงจาก Food system impacts on biodiversity loss
อ่านเพิ่มเติม
มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จากหลากวิธี และ ‘ระบบอาหาร’ ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ทำให้โลกร้อนมากขึ้น
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำฟาร์มทั่วโลก คุกคามความพยายามลดโลกร้อนตามความตกลงปารีส