ECHO ใต้สหภาพยุโรปกับบทบาทผู้นำให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มีเพศสภาพและอายุเป็นศูนย์กลาง (Gender and age-sensitive aid)

ภัยพิบัติทางธรรมชาติและวิกฤติที่มนุษย์สร้างขึ้นส่งผลกระทบต่อเพศสภาพและอายุที่แตกต่างอย่างไม่เป็นกลาง กล่าวคือผลกระทบเหล่านั้นอาจส่งผลต่อผู้หญิง เด็กผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กผู้ชายได้ไม่เท่ากัน ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจึงควรถูกออกแบบให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของแต่ละเพศสภาพและอายุโดยเฉพาะได้อย่างเพียงพอและตรงจุดมากที่สุด (Gender and age-sensitive aid)

ภาพจาก: สหภาพยุโรป Gender and age-sensitive aid

โดยหน่วยงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการคุ้มครองพลเรือนของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Civil Protection and Humanitarian Aid Operations: ECHO) เน้นย้ำความจำเป็นของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในลักษณะดังกล่าว อันหมายรวมถึงจะเป็นการคุ้มครองไม่ให้เกิดประเด็นความรุนแรงอันมีฐานมาจากเพศสภาพที่แตกต่าง (Gender-Based Violence: GBV) ด้วย

ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ก็ได้ให้ความสำคัญกับประเด็น Gender and age-sensitive aid มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2556 ที่มีเอกสารทางนโยบายพูดถึงโดยตรง ปี 2557 มีเครื่องมือวัดผลการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมที่คำนึงถึงเพศและอายุ และในปี 2564 ที่ผ่านมาก็มีรายงานประเมินที่เผยว่า ในปี 2559 และ 2560 ประมาณ 89% ของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของสหภาพยุโรปมีการดำเนินการที่คำนึงถึงเพศและอายุอย่างจริงจัง

โดยล่าสุด สหภาพยุโรปได้ออกแผน Gender Action Plan 2021-2025 (GAP พ.ศ. 2564-2568) ต่อจากแผนเดิมเมื่อปี 2016-2020 (พ.ศ. 2559-2563) ซึ่งมีการพูดถึงลำดับความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงประเด็น GBV และสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเองถือเป็นผู้นำรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ผ่านโรดแมป ‘Call to Action on Protection from Gender-Based Violence in Emergencies 2021-2025’ อีกด้วย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจเสริมพลังแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน ซึ่งมีเป้าประสงค์ที่กล่าวถึงการขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิง หลักประกันการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ นโยบาย/กฎระเบียบเพื่อความเสมอภาคทางเพศ
#SDG16 สังคมที่สงบสุข ครอบคลุม มีส่วนร่วม ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม สถาบันมีประสิทธิผล รับผิดชอบ ซึ่งมีเป้าประสงค์ที่กล่าวถึงการลดความรุนแรงทุกรูปแบบและลดอัตราการตาย การบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติ

แหล่งอ้างอิง:
https://reliefweb.int/report/world/factsheet-gender-and-age-sensitive-aid-last-updated-08032021

Last Updated on มีนาคม 18, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น