อาหารที่ดีมีคุณภาพและโภชนาการเป็นหนึ่งใน ‘ปัจจัยกำหนดสุขภาพด้านสังคม’ (social determinant of health) ที่ช่วยให้มีสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงของการเกิดโรค รวมทั้งเป็นยารักษาช่วย ‘ป้องกัน’ โรคภัยตั้งแต่ต้น สำหรับทั้งประชาชนที่มีโรคและไม่มีโรค นั่นหมายถึงว่าการเข้าถึงอาหารไม่อาจเพียงพอ แต่จำเป็นต้องเข้าถึงอาหารที่ดีและมีคุณภาพด้วย
อย่างตัวอย่างของสังคมอเมริกันซึ่งมีประชาชนเป็นโรคเบาหวานและภาวะก่อนเบาหวานจำนวนมากที่ 30 ล้าน และ 84 ล้านตามลำดับ โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากอาหารที่ผ่านกระบวนการ (processed food) ที่มีน้ำตาลสูง เช่นเดียวกับโรคประเภทอื่นอย่างโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ที่มีที่มาจากอาหารที่มีไขมัน เกลือ วัตถุเจือปนอาหารในปริมาณที่สูง
การศึกษาอาหาร (food education) และการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสาธารณสุข (public health) และโภชนาการอาหารจึงสำคัญ โดยต้องมีข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ยืนยันเพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดหลงเชื่อใน ‘วิทยาศาสตร์เทียม’ หรือหลงซื้ออาหารที่ปั่นราคาให้สูงเกินประโยชน์ทางโภชนาการที่แท้จริง
รวมถึงว่ารัฐบาลสามารถเข้ามาช่วยจัดการสนับสนุนให้มีการจ่ายยาเป็นอาหารที่ดีและมีคุณภาพ หรือ ‘อุดหนุนราคาอาหารที่ดีมีคุณภาพ’ (food subsidies) อาทิ จำพวกราคาผักและผลไม้ ธัญพืช ถั่ว น้ำมันพืช ซึ่งในฐานะที่อาหารเป็นแนวทางการป้องกันโรค มันจึงได้ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการรับยารักษาโรค การพบแพทย์ และการเข้าโรงพยาบาลที่มีราคาสูง เป็นการบริหารจัดการเงินที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีได้อย่างคุ้มทุน
โดยตามข้อมูลงานวิจัยในปี 2562 ที่เผยแพร่ใน PLoS Medicine พบว่าการสนับสนุนราคาอาหารดังกล่าวสามารถป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ประชาชนหลักล้านคนกำลังเผชิญในสหรัฐฯ ได้ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายกว่า 39.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ปัจจุบันนี้ สหรัฐฯ หันกลับมาใช้โมเดลอุดหนุนราคาอาหารภายใต้ชื่อ Gus Schumacher Nutrition Incentive Program หรือ Food Insecurity Nutrition Incentives Program
นอกจากนี้ การเก็บภาษีอาหาร (food taxes) ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้การได้ โดยถึงแม้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าอาหารประเภทใดควรเก็บภาษีเพิ่ม อย่างที่บางรัฐในสหรัฐฯ เก็บภาษีอาหารที่ผ่านกระบวนการ ขนมหวาน และน้ำโซดา ขณะที่บางรัฐอาจเห็นต่างออกไป มีการตีความและดำเนินการที่ต่างกัน แต่ทว่าก็เป็นที่รับรู้กันว่าการเพิ่มภาษีเป็นการลดแรงจูงในในการซื้ออาหารที่อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถบังคับให้ผู้บริโภคหันมาเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น อันหมายรวมถึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวานด้วย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งมีเป้าประสงค์ที่กล่าวถึงการเข้าถึงอาหาร อาหารที่เพียงพอ อาหารที่มีโภชนาการ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี ซึ่งมีเป้าประสงค์ที่กล่าวถึงการป้องกัน การรักษาโรค และลดการตายจากโรคไม่ติดต่อ
แหล่งอ้างอิง:
https://www.verywellhealth.com/food-subsidies-for-medicare-and-medicaid-4589673
#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG2 #SDG3