ในรายงาน Food Waste Index Report 2021 หรือรายงานดัชนีขยะอาหาร ซึ่งจัดทำโดย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme: UNEP) รายงานเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของขยะอาหารทั่วโลก ประมาณว่ามนุษย์ผลิตขยะจากอาหารปริมาณ 931 ล้านตันในปี 2019 หรือ คิดเป็น 17% ของอาหารทั้งหมดที่ผลิตมาให้กับผู้บริโภค โดยสามารถจินตนาการถึงปริมาณมหาศาลนี้ได้ตามคำบรรยายบนข่าวประชาสัมพันธ์ขององค์การสหประชาชาติ “ปริมาณขยะโดยประมาณเพียงพอให้รถบรรทุกขนาด 40 ตัน บรรทุกเต็มที่ ได้ถึงจำนวน 23 ล้านคัน สามารถจอดต่อกันรอบโลกได้ 7 รอบ”
แม้ว่าขยะอาหารจะถูกมองว่าเป็นปัญหาที่เกิดในประเทศร่ำรวยเป็นส่วนใหญ่ แต่จากรายงานพบว่าระดับของการสร้างขยะอาหารมีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าตกใจไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่างกัน
ดัชนีดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยใช้ข้อมูลจาก 54 ประเทศ และคาดคะเนข้อมูลของประเทศที่เหลือ ผลการศึกษาพบว่าครัวเรือนทิ้งอาหารมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 11 (79 กก./ปี) ในขณะที่บริการอาหาร ร้านอาหาร และร้านค้าปลีกทิ้งอาหารไป 5 (26 กก./ปี) และ 2 (13 กก./ปี) เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
ปริมาณขยะอาหารส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจอย่างมาก ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 940 พันล้านดอลลาร์ต่อปี และตามรายงานยังชี้ให้เห็นว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 8-10% เกี่ยวข้องกับอาหารที่ผลิตแล้วแต่ไม่ได้ถูกบริโภค
เข้าถึง UNEP Food Waste Index Report 2021
ขยะอาหาร เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ในเป้าประสงค์ 12.3 ลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภคและลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2030