ใครจะรู้ว่าอุตสาหกรรมจัดดอกไม้ขาย (Floristry) เป็นหนึ่งวงการที่สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมมากตั้งแต่การปลูกในปริมาณมากเพื่อรองรับความต้องการในโอกาสวันสำคัญ ที่มาพร้อมกับการใช้ยาฆ่าแมลงและการขนส่งเพื่อการส่งออกและนำเข้าดอกไม้ซึ่งใช้พลังงานและก่อมลพิษมาก รวมถึงว่าการจัดดอกไม้ยังใช้วัสดุประเภทพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โฟม สารเคมีที่เป็นพิษ และอื่น ๆ สำหรับทำพวงหรีดหรือซุ้มงานในพิธี ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายหรือนำมารีไซเคิลได้ ช่อดอกไม้จึงกลายเป็นของที่กองกันเป็นภูเขาขยะและปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก
นักสื่อสารและนักรณรงค์ชาวออสเตรเลียสองคน จึงก่อตั้ง ‘Sustainable Floristry Network’ ขึ้น เพื่อให้นักจัดดอกไม้ได้เข้ามาเป็นเครือข่าย เรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ในการเปลี่ยนแปลงฐานรากของ ‘ความไม่ยั่งยืน’ ดังกล่าว ให้หันมาผลิตด้วยเทคนิคและวัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ที่สามารถย่อยสลายและรีไซเคิลได้ เพื่อเป็นการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (carbon footprint) ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (carbon neutral) ไม่ใช้สารพิษ และไม่สร้างขยะเพิ่ม
ภาพจาก: เพจเฟสบุ๊ค Sustainable Floristry Network และ อินสตาแกรม sustainablefloristry
ซึ่งแม้อาชีพนักจัดดอกไม้จะเป็นธุรกิจที่ต้องการกำไร แต่ก็จำเป็นและสามารถคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยตระหนักถึงวงจรชีวิตของวัสดุทุกชิ้นที่ใช้ พร้อมทั้งให้ ‘ความยั่งยืน’ เป็นแก่นกลางแรกที่พิจารณาเมื่อต้องตัดสินใจทางธุรกิจ
ขณะที่ผู้บริโภคก็มีบทบาทไม่แพ้กัน กล่าวคือควรเริ่มจากการทำความเข้าใจศักยภาพของประเทศในการปลูกและผลิตดอกไม้บางชนิดว่าสามารถปลูกได้ตามฤดูกาลและมีเพียงพอต่อความต้องการเนื่องในโอกาสสำคัญหรือไม่ ควรคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจกระทบต่อปริมาณการผลิตดอกไม้ โดยเมื่อคำนึงถึงความยั่งยืนของดอกไม้หนึ่งช่อกับแหล่งที่มาและผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้บริโภคสามารถขอให้นักจัดดอกไม้เลือกดอกไม้ท้องถิ่นและที่มีตามฤดูกาล รวมถึงขอให้ใช้กระดาษห่อหรือวัสดุอื่นที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ไม่ใช่ประเภทครั้งเดียวทิ้ง
ความมุ่งหมายและการดำเนินการของ The Sustainable Floristry Network เป็นไปอย่างจริงจัง โดยมีการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และตระหนักถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 12 ว่าด้วยเรื่องการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 ว่าด้วยเรื่องการลงมือต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายที่ 14 ว่าด้วยเรื่องทะเลและทรัพยากรทางทะเล
‘เป้าประสงค์ที่ 12.8 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภายในปี 2573’
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งมีเป้าประสงค์ที่กล่าวถึงการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ รอยเท้าวัสดุ (material footprint) การบริโภควัสดุภายในประเทศ การจัดการและลดการปล่อยสารเคมีและของเสียสู่สิ่งแวดล้อม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ การมีข้อมูลและตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ
#SDG13 การลงมือต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทะเลและทรัพยากรทางทะเล ซึ่งมีเป้าประสงค์ที่กล่าวถึงการป้องกันและลดมลพิษ/ขยะทางทะเล โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนบก
แหล่งอ้างอิง:
https://www.bbc.com/news/uk-wales-56000483
https://www.sustainablefloristry.org/
Last Updated on มีนาคม 17, 2021