SDG Updates | Climate Migration ไม่ว่าใครก็อาจต้อง ‘ย้ายบ้าน’ เมื่อภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ไม่มีที่อยู่

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม มีความคืบหน้าของประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐานที่มีเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Migration) ทั้งสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดีโจไบเดนได้ออกคำสั่ง (Executive order) กล่าวถึง ‘การให้ความคุ้มครองและช่วยให้ประชาชนได้ตั้งถิ่นฐานใหม่’ ไม่ว่าจะเป็นการพลัดถิ่นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทางตรงหรือทางอ้อม รวมถึงคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ประจำกรุงเทพฯ ได้จัดการประชุมทบทวนการดำเนินงานตาม ‘Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration ที่นอกจากจะชี้ประเด็นทั่วไปของการย้ายถิ่นอย่างความเป็นชุมชน การส่งเงินกลับบ้าน ไปจนถึงการค้ามนุษย์แล้ว นายอันโตนิโอ วิตอริโน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ยังแสดงความกังวลว่าการที่เอเชียแปซิฟิกเป็นพื้นที่เปราะบางต่อภัยพิบัติ อาจจะกระทบและยิ่งทำให้สถานการณ์การย้ายถิ่นในภูมิภาคซับซ้อนขึ้น

ซึ่งบางแหล่งข้อมูลการศึกษาก็ได้ชี้ว่า นับวันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งเข้ามามีอิทธิพลให้เกิดการย้ายถิ่น (climate-induced movement) ทำให้คนพลัดถิ่น (displacement) มากกว่าจากเหตุของความขัดแย้งและความรุนแรง และจะมีจำนวนมากขึ้นเมื่อเกิดภัยพิบัติบ่อยขึ้น

SDG Updates วันนี้จึงชวนทำความเข้าใจเบื้องต้นกับแง่มุมผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการย้ายถิ่น ที่ไม่ว่าใครก็อาจจำเป็นต้อง ‘ย้ายบ้าน’ ออกไปจากชุมชนเดิมได้เหมือนกัน

‘ภายในปี 2593 (2050) จะมีคนย้ายถิ่นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศประมาณ 25 ล้านคนถึง 1 พันล้านคน ในจำนวนนี้คือการย้ายถิ่นทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ แบบชั่วคราวและถาวร’

– การคาดการณ์ของ IOM, 2562

การโยกย้ายถิ่นฐานที่มีเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Migration) หมายถึงการเคลื่อนย้าย (mobility) หรือการย้ายที่อยู่อาศัยของคนหรือกลุ่มคนที่มีเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม (environmental change) และสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของ

  • การย้ายถิ่นชั่วคราวและถาวร
  • การย้ายถิ่นภายในประเทศและระหว่างประเทศ
  • การย้ายถิ่นของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว

ซึ่งมีความหมายรวมไปถึงการพลัดถิ่น การโยกย้ายถิ่นฐานขนานใหญ่ (mass migration) การวางแผนย้ายถิ่นโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือองค์กร (planned relocation) และผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศ (climate refugees) ซึ่งไม่ว่าจะมีรายละเอียด คำนิยาม หรือข้อกฎหมายต่อกลุ่มบุคคลต่างกันอย่างไร แต่ใจความสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ ทำให้ ‘ทุกคน’ กลายเป็น ‘ผู้เปราะบาง’ หรือ ‘ผู้ย้ายถิ่น’ (migrants) ได้เหมือนกัน ทั้งประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว

ภาพจาก: www.internal-displacement.org

ดูรายละเอียดข้อมูลการพลัดถิ่นรายประเทศ 145 ประเทศ แยกตามเหตุของความขัดแย้งและความรุนแรง และภัยพิบัติ ที่
Global Report on Internal Displacement 2020
และ 2019 internal displacement figures


01 ภัยพิบัติจาก Climate Change ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใดกับที่ค่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลง นำมาซึ่งการรับมือและปรับตัวต่อสถานการณ์ต่างกัน

แม้ว่าทั้งสองประเภทจะมีอิทธิพลต่อการเลือกหรือจำใจต้องย้ายถิ่นของประชาชน ทว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันที่มาจาก ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ (extreme weather) อาทิ ภัยแล้ง น้ำท่วม สีนามิ คลื่นความร้อน พายุไซโคลน ส่วนใหญ่มักทำให้เกิดการพลัดถิ่นแบบระยะสั้นหรือชั่วคราวที่ประชาชนจำต้องย้ายไปอยู่พื้นที่ชุมชนหรือเมืองใกล้เคียงในระยะหนึ่งก่อนที่จะหวนคืนกลับบ้านเพราะยังคงมีความรู้สึกหวงแหนอยู่ แต่ถ้าหากภัยพิบัตินั้นเกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้น ก็อาจทำให้ประชาชนย้ายถิ่นในระยะยาวได้

ขณะที่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งจนกลายสภาพเป็นทะเลทราย (desertification) ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การกัดเซาะชายฝั่ง ความเป็นกรดในน้ำทะเล ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เหล่านี้ทำให้ประชาชนย้ายถิ่นระยะยาวหรือถาวร ซึ่งเมื่อเกี่ยวพันกับความถาวรแล้วก็จะต้องมีการพูดคุยกันหลายฝ่ายโดยเฉพาะให้เกิดการผสานคนกลุ่มนี้เข้ากับชุมชนใหม่ได้อย่างสันติ

ในแง่นี้ การลดผลกระทบ (mitigation) และการปรับต่อตัวต่อการปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation) จึงอาศัยมาตรการรับมือต่อการย้ายถิ่นด้วยเหตุดังกล่าวที่ต่างกัน พร้อมกับการมีความเข้าใจว่าทั้งสองกรณีเผชิญกับผลกระทบที่ตามมาในลักษณะเดียวกัน อาทิ การสูญเสียที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ความมั่นคงทางอาหาร การศึกษาและการมีงานทำ อัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต ไปจนถึงผลกระทบของสถานการณ์ที่มีต่อสภาพจิตใจ กระทบต่อความเป็นอยู่และความมั่นคงของมนุษย์นั่นเอง

02 ถึงแม้ทุกคนจะเปราะบางก็ใช่ว่าจะ ‘เปราะบาง’ เท่ากัน การย้ายถิ่นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงมักเกิดขึ้นภายในประเทศมากกว่าระหว่างประเทศ

จริงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม และมีอิทธิพลต่อการย้ายถิ่นแบบสมัครใจ (voluntary) และจำใจต้องจาก (forced) แต่ด้วยความที่ผลกระทบนั้นมักเกิดขึ้นกับส่วนที่เปราะบางที่สุดของสังคมอย่างรุนแรง ที่ผู้คนกลุ่มนี้อาจมีศักยภาพในการรับมือและปรับตัวต่อเหตุการณ์ได้ไม่สู้ดีนัก การย้ายถิ่นซึ่งขึ้นอยู่กับทรัพยากรหรือเงินทุนที่มี จึงจำกัดอยู่ภายในประเทศมากกว่าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะว่าหากเป็นคนที่อยู่ในประเทศที่ยากจนด้วยแล้ว ย่อมไม่มีทรัพยากรเพียงพอจะย้ายไปในพื้นที่ที่ห่างไกลจากภัยพิบัตินั้นได้ ในแง่นี้ ภาพของการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศขนานใหญ่จากเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงไม่ชัดเจนมากนัก

ขณะเดียวกัน ผู้เปราะบางเองก็อาจตกอยู่ในภาวะ ‘ติดกับ’ (trapped) กล่าวคืออยู่ในภาวะที่เผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่ก็ไม่สามารถหนีไปจากมันได้ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมภาวะความเปราะบางนั้นเป็นเท่าตัว

03 รูปแบบการรับมือกับ Climate Migration ของประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วก็ต่างกัน

งานวิจัยด้านนี้มักศึกษาในบริบทของประเทศกำลังพัฒนา อาทิ แอฟริกา เอเชียใต้ และอเมริกาใต้ และมองว่าด้วยความที่สังคมมีการพึ่งพารายได้จากภาคเกษตรกรรม อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นสูงหรือต่ำลงอย่างสุดขั้วย่อมกระทบกับผลผลิตและพืชผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ รวมทั้งวิถีความเป็นอยู่ของประชาชน การย้ายถิ่นจึงมักเป็นการย้ายเข้าไปในพื้นที่ท้องถิ่นหรือเมืองใกล้เคียงในระยะสั้นก่อน

ขณะที่ ประเทศพัฒนาแล้วที่ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองที่ไม่ได้มีวิถีชีวิตและแหล่งรายได้ที่พึ่งพิงการเกษตรและสิ่งแวดล้อมมากนัก การศึกษาจึงยังคงเป็นการพูดถึงวิศวกรรม รูปแบบและวัสดุในการสร้างบ้าน และการวางผังเมืองที่คำนึงถึงการรับมือกับภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยงต่อการกัดเซาะทางชายฝั่งหรือน้ำท่วม เป็นต้น


แล้วโลกมีการพูดกันว่าอย่างไร ?

แม้ว่าจะยังไม่มีคำนิยามสากลทางกฎหมายที่เกี่ยวกับ climate migration หรือ climate-induced movement โดยตรง แต่ในการย้ายถิ่นนั้นประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายภายในประเทศ กฎระเบียบในภูมิภาค และควรมีการคุ้มครองระหว่างประเทศด้วยกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลที่จะประกันไม่ให้ผู้คนต้องเผชิญกับความเสี่ยงร้ายแรงที่กระทบต่อชีวิตและความปลอดภัย โดยหลัก ๆ มี ‘เครื่องมือ’ สำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ ดังนี้

  • Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration: GCM (2561) เป็นครั้งแรกของข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีการตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างการโยกย้ายถิ่นฐานกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม โดยย้ำการสนับสนุนรัฐและผู้โยกย้ายถิ่นฐานทุกคนไม่ว่าจะมีสถานะใด
  • UN Framework Convention on Climate Change: UNFCCC ซึ่งมีทีมเฉพาะกิจที่รับผิดชอบประเด็นการพลัดถิ่นที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ
  • Sydney Declaration of Principles on the Protection of Persons Displaced in the context of Sea Level Rise (2561) โดย International Law Association ผลักดันให้เป็นแนวทางด้านกฎหมายที่ครอบคลุมกฎหมายสิทธิมนุษยชน กฎหมายผู้ลี้ภัย และกฎหมายภัยพิบัติ คุ้มครองประชาชนจากความเสี่ยงและผลกระทบของระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นที่มีต่อการพลัดถิ่น โดยมองว่า ‘การย้ายถิ่น’ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์รับมือปรับต่อตัวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย ดังนั้น จึงต้องอำนวยการอพยพ ตั้งถิ่นฐานใหม่ และให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

Resilience สร้างได้และก็ต้องมาจากความเข้าใจประเด็นการย้ายถิ่น

นอกเหนือจากการลดผลกระทบในหน้าแล้งและหน้าฝน และการคิดใหม่เรื่องการวางผังเมืองให้มีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ในการจัดการกับ Climate Migration มาตรการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอาจไม่เพียงพอ โดยอาจมีการพิจารณาบนฐานที่ให้ ‘การย้ายถิ่น’ เป็นหนึ่งในวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate adaptation) อาทิ จัดให้มีการย้ายถิ่นใหม่ภายในประเทศในระยะยาว (relocation) และหากเกิดการย้ายถิ่นขนานใหญ่ นานาประเทศก็ต้องให้ความช่วยเหลือและประสานความร่วมมือระหว่างกัน

นอกจากนี้ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อการพลัดถิ่นหรือย้ายถิ่นไม่เพียงทำให้กลายเป็นคนไร้บ้านหรือไร้งานเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของ ‘อัตลักษณ์’ วิถีชีวิตที่ผูกพันกับท้องถิ่น ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่เรียกว่า ‘บ้าน’ ไปจนถึงความเป็นไปได้ของการเกิดความขัดแย้งใหม่ด้านทรัพยากรระหว่างผู้อยู่อาศัยเดิมและผู้มาใหม่ด้วย

ดังนั้น การเข้ามาให้ความช่วยเหลือ คุ้มครอง หรือเพิ่มศักยภาพการตั้งรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงจำเป็นต้องเข้าใจความซับซ้อนเหล่านี้

หากสนใจสามารถติดตามประเด็นได้ที่: https://disasterdisplacement.org/

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 มีการพูดถึงการการสร้างภูมิต้านทานและลดความเปราะบางต่อภัยพิบัติ/สภาพภูมิอากาศให้กับคนยากจนและที่อยู่ในภาวะเปราะบาง
#SDG10 มีการพูดถึงการอำนวยความสะดวกในการอพยพย้ายถิ่นของคนให้ปลอดภัย มีระเบียบ และมีการจัดการที่ดี
#SDG11 มีการพูดถึงการลดความสูญเสียจากภัยพิบัติที่มีต่อเมือง การปกป้องคนจนและกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ
#SDG13 มีการพูดถึงการเสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญกับชุมชน คนชายขอบ

และประเด็นนี้ยังส่งผลต่อ
#SDG2 ความมั่นคงทางอาหาร
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะความเป็นอยู่ที่ดี ที่หมายรวมถึงสุขภาพจิต
#SDG8 การมีงานที่ดีสำหรับทุกคน
#SDG14 ความเป็นกรดในมหาสมุทร
#SDG15 การแปรสภาพเป็นทะเลทราย ความเสื่อมโทรมของดินและความหลากหลายทางชีวภาพบนบก
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือภายในประเทศและระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
As Biden Seeks Answers on Climate’s Impact on Migration, Sydney Declaration Provides Legal Ground Rules for Action
Asia-Pacific: UN forum highlights central role of migrants in world’s most populous region
Environmental Migration
Impacts of Climate Change as Drivers of Migration
Environmental Migrants: Up to 1 Billion by 2050
The ‘inconvenient truth’ of future mixed migration: Climate change, mobility and legal voids

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น