Hollywood, Health & Society เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและความปลอดภัยแก่อุตสาหกรรมบันเทิง ทำงานร่วมกับทีวีซีรีส์หลายเรื่องเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ชมจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง หนึ่งในนั้นคือทีวีซีรีส์เรื่อง 90210 ที่ออกฉายในปี 2012 ทำให้สามารถเล่าเรื่องราวที่น่าติดตามและให้ผู้ชมรู้สึกเชื่อมโยงกับสุขภาพตัวเองได้ ตัวอย่างฉากหนึ่ง คือ
ตัวละครหญิงในอายุ 18 ปีในทีวีซีรีส์เรื่อง 90210 ต้องเจอสถานการณ์ที่เธอต้องเลือกหลังจากแม่ของเธอเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม ว่าเธอจะตรวจหายีน BRCA ที่ส่งต่อผ่านพันธุกรรมเพื่อประเมินความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมของเธอเองหรือไม่
หลังจากซีรีส์ฉายออกไป มีงานวิจัยพบว่า มีผู้ชมที่เป็นเพศหญิง 12% รายงานว่าพวกเธอนัดแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม อีก 13% พูดคุยเรื่องยีน BRCA กับผู้หญิงคนอื่นที่รู้จัก และอีก 17% ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องมะเร็งเต้านมทางออนไลน์
แต่การดูทีวีที่นำเสนอข้อมูลด้านสุขภาพอย่างไม่รอบคอบ ก็อาจเกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะประเด็นสุขภาพจิต
ปัญหาสุขภาพจิดมักถูกนำเสนออย่างบิดเบือนในภาพยนตร์และรายการทีวี ทำให้เกิดการตีตราซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ป่วยเอง ตัวอย่างเร็วๆ นี้ คือ ซีรีส์เรื่อง 13 Reasons Why ที่เล่าเรื่องราวหลังการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นผู้หญิงคนหนึ่ง โดยในเดือนถัดมาหลังจากซีรีส์เรื่องนี้ออกฉายเป็นตอนแรกในปี 2017 อัตราการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นอเมริกันอายุระหว่าง 10 ถึง 17 ปี เพิ่มขึ้น 28.9% ซีรีส์เรื่อง 13 Reasons Why ถูกวิจารณ์ว่ามองข้ามหลักเกณฑ์ของสื่อในการนำเสนอเรื่องราวของการฆ่าตัวตาย ที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบ
ในขณะที่ทีวีซีรีส์เรื่อง The Bold and the Beautiful ในปี 2001 ที่ผู้อำนวยการสร้างทำงานร่วมกับ Hollywood, Health & Society มีฉากที่ตัวเอกพบว่าตนเองติดเชื้อ HIV มีการโชว์เบอร์สายด่วน HIV/AIDS เมื่อซีรีส์ตอนนั้นฉายจบ และพบว่ามีคนโทรเข้าไปขอคำปรึกษาจำนวนมาก
โทรทัศน์ไม่เพียงแต่ให้ข้อมูลด้านสุขภาพแก่คุณเท่านั้น แต่ยังสามารถกระตุ้นให้คุณทำสิ่งที่ดีสำหรับคุณได้อีกด้วย หากใช้มันเป็นเครื่องมือในการส่งต่อข้อมูลด้านสุขภาพที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ ก็จะสามารถกระจายข้อมูลนี้ได้อย่างเป็นวงกว้าง
ในขณะที่ Hollywood, Health & Society ทำงานเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแต่วงการบันเทิง แต่ผู้ชมไม่มีทางรู้ได้เลยว่ารายการที่พวกเขาดูให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือไม่ และไม่มีวิธีการในการวัดผลว่าเรื่องเล่านั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องดีหากมีการทำงานร่วมกันทั้งจากอุตสาหกรรมบันเทิง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และสุขภาพ และผู้ชม เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีโดยใช้ทีวีเป็นเครื่องมือ
การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เชื่อมโยงกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย
ที่มา: The Conversation