การประชุมคณะกรรมการด้านการประมง (Committee on Fisheries) ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เน้นย้ำความสำคัญของฟาร์มอาหารทะเลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เป็นศูนย์กลางของแหล่งโปรตีนหล่อเลี้ยงประชากรทั้งโลก ดังนั้น จึงต้องทบทวนคุณภาพและวิธีการผลิตที่คำนึงถึง ‘ความยั่งยืน’ ของสิ่งแวดล้อมท้องทะเล มีปริมาณอาหารเพียงพอ ราคาไม่แพง และทุกคนเข้าถึงได้ เช่นเดียวกับที่ต้องจับตาดูแหล่งผลิตโปรตีนของภาคการเกษตรบนผืนดินอย่างหมูและไก่
เพราะการประมงและการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์น้ำ (aquaculture) เป็น ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ ของโลกที่มีโภชนาการและทำให้สุขภาพดี โดยแหล่งผลิตจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีมูลค่าสูงในการค้าอาหารระหว่างประเทศ และภายในภูมิภาคเองก็มีการบริโภคในปริมาณมากเมื่อเทียบกับยุโรป อเมริกา หรือแอฟริกา ทว่าการเข้าถึงอาหารทะเลยังเป็นเรื่องของ ‘วัฒนธรรม’ และการมีแรงจ่ายด้วย
ดังนั้น จึงต้องมีการสร้างหลักประกันให้การผลิตอาหารจากท้องทะเล (Blue Food Production) เป็นการผลิตที่ คำนึงถึงศักยภาพในการรองรับของสิ่งแวดล้อมเมื่อการทำฟาร์มมีประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพเหมือนกับกรณีการทำฟาร์มปศุสัตว์บนบกที่ก่อมลพิษและสิ่งปฏิกูล จึงจะต้องมีการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทักษะและความรู้ในการใช้เทคโนโลยีและวิธีการทำฟาร์มที่ยั่งยืน รวมถึงต้องช่วยเหลือด้านการลงทุน ให้สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจสีน้ำเงินได้อย่างยั่งยืน
พื่อให้การบริโภคอาหารทะเลเป็นเรื่องปกติของการเข้าถึงโปรตีนสำคัญที่ราคาไม่แพง ไปพร้อมกับการสร้างสมดุลการบริโภคระหว่างอาหารทะเล หมู และไก่ ไปด้วยในตัว
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ซึ่งครอบคลุมถึงการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ อาหารที่มีโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
#SDG14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมถึงการปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเล ความอุดมสมบูรณ์ของทะเล และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน
#SDGWatch #ihpp #SDG2 #SDG14
Last Updated on มีนาคม 19, 2021